รพ.เอกชนดิ้นสู้ ยื่นศาลขอสั่งเลิกคุมยา-บริการทางการแพทย์ “พาณิชย์”ไม่ท้อ ยันจะดูแลผู้บริโภคต่อ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

รพ.เอกชนดิ้นสู้ ยื่นศาลขอสั่งเลิกคุมยา-บริการทางการแพทย์ “พาณิชย์”ไม่ท้อ ยันจะดูแลผู้บริโภคต่อ

img

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราว คำสั่ง กกร. ที่ขึ้นบัญชีควบคุมยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ หวังให้ศาลสั่งหยุดบังคับใช้ เหตุทำธุรกิจเสียหาย เพราะบังคับกับโรงพยาบาลเอกชน ไม่รวมโรงพยาบาลรัฐ และปิดโอกาสสมาคมแสดงความคิดเห็น “ปลัดพาณิชย์” ยันยังไม่ได้ออกมาตรการมาดูแล แค่เฝ้าระวัง ระบุพร้อมสู้ไม่ถอย ด้านกรมการค้าภายในย้ำขอความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งหมดก่อนชง กกร.-ครม.คุม ย้ำบังคับใช้กับสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ใช่แค่เอกชนอย่างเดียว


นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือนเม.ย.2562 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราวคำสั่งคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่ได้นำสินค้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 โดยสมาคมฯ ให้เหตุผลว่าก่อนที่ กกร. จะนำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุม สมาคมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นใดๆ และคำสั่งดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐ จึงส่งผลเสียหายต่อโรงพยาบาลเอกชน และขอให้ศาลคุ้มครองคำสั่งชั่วคราว เพื่อให้การออ
กประกาศของ กกร. หยุดการบังคับใช้

“โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ จึงฟ้องศาลปกครอง และฟ้องเอาผิดกับ กกร. ทุกคน รวมถึงรมว.พาณิชย์ , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมที่ชี้แจง ส่วนศาลจะตัดสินว่าอย่างไรเป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณา หากไม่จบในศาลเดียวต้องว่ากันต่อไปในศาลสูงสุด และในที่สุดแล้ว ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ก็พร้อมดำเนินการตาม”

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค เพราะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งคิดค่ายา และค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง แต่ที่สำคัญ การนำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดมาตรการใดๆ ออกมาควบคุมเลย เป็นเพียงแค่การนำมาจับตาเพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีตนเป็นประธานในเร็วๆ นี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ ได้สั่งการให้คณะทำงานพิจารณาโครงสร้างต้นทุนราคายา ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน ศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคายาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฯ ได้ข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า จากโรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต-ผู้นำเข้า และร้านจำหน่ายยารายใหญ่ครบถ้วนแล้ว และอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลมาเสนอคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการกำกับดูแลต่อไป

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ศาลปกครองได้แจ้งมากรมฯ แล้ว เพื่อให้ทำหนังสือชี้แจงภายใน 15 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ โดยกรมฯ ยืนยันว่า ก่อนที่ กกร. จะอนุมัติให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ได้ขอความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งโรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันชีวิตและประกันวินาศภัย มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลเอกชนจะอ้างว่าไม่มีส่วนแสดงความเห็นได้อย่างไร

นอกจากนี้ ในประกาศของ กกร. จะครอบคลุมกับยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนตามที่สมาคมฯ เข้าใจ แต่การที่กรมฯ ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้าจากโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น เป็นเพราะกรมฯ ไม่มีข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชน แต่ข้อมูลของโรงพยาบาลรัฐ ได้ขอจากกรมบัญชีกลางแล้ว

ส่วนกรณีที่ทนายความ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ส่งหนังสือถึงตนเพื่อขอให้ระงับการให้ข่าวที่เป็นการข่มขู่โรงพยาบาลนั้น ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของกรมฯ ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วว่า ตนไม่เคยข่มขู่ เพียงแค่ต้องการชี้แจงว่ากรมฯ สามารถดำเนินการใดได้บ้างตามกฎหมายราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 เช่น หากกรมฯ ทำหนังสือขอให้โรงพยาบาล ส่งข้อมูลราคาซื้อขาย นำเข้า มาให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเพิกเฉย ก็สามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ได้ข่มขู่แต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad