พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับต่ออายุระหว่าง สำนักงานบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาจีน กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2562

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับต่ออายุระหว่าง สำนักงานบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาจีน กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับต่ออายุ เรื่อง การวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก (ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ของจีน กับ สวทช.)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับต่ออายุระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาจีน FIRST AMENDMENT TO EXTEND THE MEMORANDUM OF UNDERSTANDING ON POLAR SCIENCES COOPERATION BETWEEN CHINESE ARCTIC AND ANTARCTIC ADMINISTRATION, THE STATE OCEANIC ADMINISTRATION AND NATIONAL SCIENCE AND TECHNOLOGY DEVELOPMENT AGENCY ซึ่งเป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับต่ออายุจากฉบับเดิมที่มีระยะเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 - 29 กรกฎาคม 2561 โดยบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่นี้มีระยะเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 - 3 เมษายน 2567
และทรงเปิดป้ายห้องปฏิบัติการร่วมวิจัยแอนตาร์กติก ไทย-จีน สิรินธร ที่สำนักงานบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration: CAA) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพื้นที่ที่สถานีปฏิบัติการวิจัยเกรทวอลล์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้นักวิจัยของไทยที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ ที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์ ได้ใช้ในการปฏิบัติการวิจัย หรือในการทำงานในระหว่างที่อยู่ที่นั่นด้วย

สาระสำคัญ/ขอบเขตของความร่วมมือ คือ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก รวมถึงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ เทคโนโลยีชีวภาพ และ space weather ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆ จะต้องคำนึงถึงสนธิสัญญาแอนตาร์กติก โดยกิจกรรมตามความร่วมมือ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิจัย และการศึกษาวิจัยขั้วโลก การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากร การสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเข้าร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของจีน และการรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณแอนตาร์กติก โดยมี สวทช. เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยของไทยเพื่อคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจขั้วโลกใต้ของจีน ทั้งนี้รายละเอียดของกิจกรรมตามความร่วมมือจะจัดทำเป็น Project Agreement ของแต่ละโครงการในภายหลัง
สำหรับในปี 2562 ทางโครงการมีแผนจะส่งนักวิจัยไทยร่วมเดินทางไปศึกษาวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกโดยร่วมกับคณะสำรวจของจีน คือ นายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ เพื่อศึกษาผลกระทบจากดวงอาทิตย์ผ่านรังสีคอสมิกจากกาแล็กซี ซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่ทะลุเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก โดยใช้วิธีการสำรวจตัดข้ามละติจูดเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมช่วงกว้างพลังงานของรังสีคอสมิกที่เข้ามาในแต่ละตำแหน่งบนโลก ตำแหน่งละติจูดที่แตกต่างกันจะสามารถตรวจวัดปริมาณและพลังงานของรังสีคอสมิกได้ไม่เท่ากัน อุปกรณ์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยเพื่อตรวจวัดรังสีคอสมิกที่มาจากอวกาศ เรียกว่า “ช้างแวน” ซึ่งประกอบด้วยเครื่องตรวจวัดนิวตรอน (neutron monitors) จำนวน 3 หลอด บารอมิเตอร์วัดความดัน ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกหรือจีพีเอส เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน ชุดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องมือวัดความโคลงเคลงของเรือ และอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ติดตั้งภายในคอนเทนเนอร์ฉนวนขนาดมาตรฐาน อุปกรณ์ช้างแวนมีแผนเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาเดินทางไป-กลับของเรือตัดน้ำแข็งเชว่หลง (Xuelong) ระหว่างเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสถานีจงซาน (Zhongshan station) ในทวีปแอนตาร์กติก โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยในสาขาดาราศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad