ไทยพาณิชย์เปิดตัว “SCB Wealth Holistic Experts” ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มิติใหม่ของการมอบประสบการณ์ในการสร้างความมั่งคั่ง พร้อมเจาะลึกมุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนรับมือความผันผวนหลังการเลือกตั้ง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562

ไทยพาณิชย์เปิดตัว “SCB Wealth Holistic Experts” ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มิติใหม่ของการมอบประสบการณ์ในการสร้างความมั่งคั่ง พร้อมเจาะลึกมุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนรับมือความผันผวนหลังการเลือกตั้ง


ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำทีมคลังสมองด้านการลงทุนและต่อยอดสร้างความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคาร ภายใต้ชื่อ "SCB Wealth Holistic Experts" เป็นการผสานความแข็งแกร่งของทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินการลงทุนใน 3 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ SCB CIO Office, SCBS Wealth Research และ SCB Estate Planning & Family Office Service ซึ่งจะทำหน้าที่จัดเตรียมและคัดกรองบทวิเคราะห์ พร้อมจับจังหวะและทิศทางการลงทุนครอบคลุมตลาดโลก ตลาดทุนไทย รวมถึงข้อกฎหมายสำคัญที่น่าสนใจและต้องโฟกัสเป็นพิเศษในแต่ละช่วงเวลา เพื่อช่วยให้กลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคารไม่พลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกจังหวะการลงทุน อันนำไปสู่การต่อยอดความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงต่อไป พร้อมกันนี้ทีม "SCB Wealth Holistic Experts" ยังได้เผยถึงทิศทาง มุมมอง และกลยุทธ์ด้านการลงทุนในไตรมาส 2 แบบรอบด้าน ทั้งภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดโลก เจาะลึกตลาดทุนไทย รวมถึงกฎหมายภาษีอากรที่นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งอีกด้วย
          นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของโลก มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในทิศทางเดียวกัน (Synchronize Slowdown) สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2562 ลงอยู่ที่ 3.3% จาก 3.5% ที่ได้ประมาณการไว้ครั้งก่อน ขณะที่ธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในไตรมาส 2/2562 ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางจีน (PBoC) ซึ่งเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก  อัตราดอกเบี้ย ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตามหากเครื่องชี้วัดต่างๆ ในช่วง 3 - 4 เดือนข้างหน้า บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง Fed อาจส่งสัญญาณเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการเงิน (Monetary Policy Stance) เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้น (Hawkish) เพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 จริงก็ตาม สำหรับ เงินดอลลาร์ สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าในไตรมาส 2/2562 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ Yield Curve ของสหรัฐฯ ก็อยู่สูงกว่าเช่นเดียวกัน สำหรับสกุลเงินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีเสถียรภาพแข็งแกร่ง มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงิน ดอลลาร์ สหรัฐฯ  เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดย SCB-EIC คาดการณ์ GDP ในปี 2562 อยู่ที่ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ตลอดปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Monetary Policy Gap) ระหว่างสหรัฐฯ และไทย
          กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2/2562
          - ตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) มองว่า Yield Curve ไม่น่าจะกลับมา Inverted ในไตรมาส 2/2562 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณดีขึ้น และตลาดรับรู้เรื่องการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของ Fed ไปมากแล้ว ซึ่งหากเศรษฐกิจส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ Fed กลับมาส่งสัญญาณเปลี่ยน Policy Stance เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้นเพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 จริงก็ตาม เป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีได้ ดังนั้น ไม่แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวต่างประเทศ
          US High Yield ไม่แนะนำให้ลงทุน เนื่องจาก คุณภาพเครดิต (Credit quality) ของตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนของ US High Yield (rating ตั้งแต่ BBB ลงไป) ที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ 60% ของทั้งหมด นอกจากนี้ Valuation ของ US High Yield ในปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างแพง สะท้อนจาก Credit spread ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก
          ตราสารหนี้ไทยอายุไม่เกิน 5 ปี ยังน่าสนใจลงทุน เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปีนี้
          - ตลาดตราสารทุน (Equity) มองว่าตลาดหุ้นที่ปรับลดลงในช่วงไตรมาส 4/2561 ได้สะท้อนปัจจัยลบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed และตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้แล้วบางส่วน สำหรับในไตรมาส 2/2562 ยังสามารถทยอยสะสมหุ้นในบางตลาดได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
          1.แรงกระตุ้นจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น
          2.ตัวเลขเศรษฐกิจในบางประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น PMI ภาคการผลิตของจีนกลับมาฟื้นตัว ยืนเหนือ 50 จุด หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และ ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
          3.ความเสี่ยงที่เริ่มคลี่คลายลง ทั้งประเด็น Brexit และ Trade War

          น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นหลักต่างๆ มีดังนี้
          - Overweight: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Low Volatility และ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้ม Outperform หุ้นกลุ่ม Cyclical ในเศรษฐกิจ Late Cycle
          - Underweight: ตลาดหุ้นยุโรป เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจน ขณะที่ประเด็น Brexit ยังยืดเยื้อ
          - Neutral: ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นจีน โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการจีน อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นจีน A Share ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% นับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ Upside ปรับลดลง และอาจมีความเสี่ยงจากการถูกขายทำกำไร ดังนั้นแนะนำให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างอิงผลตอบแทนขาขึ้นตามดัชนีตลาดหุ้นจีน แต่มีการ Protect Downside เช่น structure note หรือ structure funds
 
          - สินทรัพย์ทางเลือก
          - ทองคำ: Underweight เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก ประกอบกับนักลงทุนเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง และขายทองคำหลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น
          - น้ำมัน: Neutral โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจำกัด เนื่องจากตลาดรับรู้ประเด็นที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่านไปพอสมควรแล้ว และกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบีย สามารถกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต โดยไม่คงนโยบายลดกำลังการผลิตอีกต่อไป เนื่องจากราคาดึงดูดให้ผลิตเพิ่ม
          นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมายังคงชะลอตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกชัดเจนในช่วง 3 - 6 เดือนข้างหน้า หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน บรรเทาลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ของโลกจะออกมาต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ จีน และน่าจะตามมาด้วย ยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกกลับมาสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง อีกทั้งสภาพคล่องการเงินโลกไม่ได้ลดอย่างที่คาดทำให้แรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ลดลง สำหรับทิศทางของตลาดหุ้นไทย ด้วยภาพรวมหลังเลือกตั้งของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะผันผวนในช่วงที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งอาจใช้ระยะเวลาทั้งไตรมาส 2/2562 และหลังจากมีความชัดเจนแล้วตลาดหุ้นไทยก็จะกลับไปปรับตัวตามสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกและทิศทางของผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ประเมินว่า SET Index มีโอกาสลดลงไปได้ที่ 1600 หรือ 1550 จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองแต่ยังคงยืนยันเป้าหมายของปี 2562 ที่ระดับ 1700 - 1800 จุด
          กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุน (Asset allocation) ในไตรมาส 2/2562 ของSCBS คือ "ปรับพอร์ตเป็นเชิงรุกมากขึ้น"
          - แนะนำ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานและเศรษฐกิจรวมถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ยังคงมีอยู่สูง โดยในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังรอความชัดเจนทางการเมือง แนะนำกระจายการลงทุนไปตลาดหุ้นโลก, หุ้น Asia Ex Japan โดยเฉพาะหุ้นจีน
          - แนะนำ สร้างสมดุลด้วยสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ โดยในส่วนของตราสารหนี้ แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอายุยาวขึ้นในช่วงประมาณ 4 ถึง 6 ปี หรือ สินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น REITs และ Emerging Market Bond เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดทางเลือกอื่นๆ ในการลงทุนมากขึ้นอย่างไรก็ตาม เราประเมินความเสี่ยงที่สำคัญในการลงทุนจะยังคงอยู่ ไม่ว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำลงเนื่องจากเป็นช่วงปลายของการขยายตัว (Late Cycle) และความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น การจัดพอร์ตโฟลิโอยังคงแนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
           กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย เรามองว่า SET จะมี downside จำกัด และไม่คิดว่าตลาดจะปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว เดือน ก.ค. ที่ 1600 จุด และ เดือน ธ.ค. ที่1550 จุด เนื่องจากภาวการณ์ลงทุนและ sentiment ในตอนนี้ดีกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก แต่ upside ก็ไม่สูงมากมองที่ระดับ 1700 - 1800 จุด โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ราคามีโอกาสปรับตัวลดลงในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน เนื่องจากตลาดจะคลายความกังวลหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองจะกลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เพียงการเมืองไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และ ในยุโรป เป็นต้น ดังนั้นโซนเข้าซื้ออยู่ระหว่าง 1550 -1600 จุด ในขณะที่โซนขายอยู่ระหว่าง 1750 – 1800 จุด หรือ 8 - 10% จากระดับปัจจุบัน
          หุ้น Top Picks แนะนำลงทุนในไตรมาส 2/2562 เราชอบหุ้นวัฏจักร (cyclical) มากกว่าหุ้นตั้งรับ (defensive) และแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และธุรกิจการเกษตร เพราะกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและถูกเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงและระดับในอดีต
          IRPC : สถานการณ์จะพลิกกลับมาเป็นบวกในปี 2562 เนื่องจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรฐัฯ - จีน มีความคืบหน้าที่ดีบวกกับความต้องการน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำจะเพิ่มขึ้นก่อนมาตรการควบคุมปริมาณกำมะถันของ IMO มีผลบังคับใช้ ราคาเป้าหมาย 8.6บาท / หุ้น
          -IVL : ราคาหุ้นปรับตัวตาม underperform หุ้นอื่นๆ ในกลุ่มปิโตรเคมีสะท้อนถึงความกังวลที่นักลงทุนมีต่อแนวโน้มธุรกิจของบริษัท ปัจจุบันvaluation อยู่ในระดับต่ำที่ PER 8.7 เท่า และ PBV 1.6 เท่า ราคาเป้าหมาย 82 บาท ซึ่งให้ upside 71% บวกกับผลตอบแทนจากเงินปันผล3.6 - 3.8% ในปี 2562 - 2564
          - PTTEP : มีเป้าหมายเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและสนับสนุนให้ความสามารถในการทำกำไรเติบโตในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการลงทุนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DCF ที่ 150 บาท / หุ้น
          - GFPT : ราคาผลิตภัณฑ์ในประเทศสูงขึ้นปริมาณการขายส่งออกแข็งแกร่งและต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง ซึ่งรวมกันแล้วจะช่วยสนับสนุนให้อัตรากำไรของธุรกิจไก่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ซื้อขายที่ PE ปี 2562 ระดับ 12 เท่า
          - TU : ราคาหุ้นปรับตัว outperform SET อยู่ 11% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยได้รับปัจจัยกระตุ้นจากธุรกิจหลักที่ฟื้นตัวดีขึ้นใน 2H61คาดว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้น YoY อย่างต่อเนื่องในปี 2562 แนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายระยะ 12 เดือนที่ 23 บาท
          ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรในช่วงปี 2562 และแนวโน้มของกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต จะเห็นได้ว่ากรมสรรพากรเน้นการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการออกกฎหมายภาษีอากรใหม่ๆ ที่ต้องการให้ผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดารวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลได้เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และแยกแยะกลุ่มผู้เสียภาษี และสร้างรูปแบบการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          โดยจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นต้นมา กรมสรรพากรได้มีการออกมาตรการทางภาษีอากรโดยในหลายๆมาตรการได้มีผลใช้บังคับแล้ว และบางมาตรการก็กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจรวมทั้งมีข้อสงสัยและข้อซักถามในทางปฏิบัติจากประชาชนเป็นอย่างมาก อาทิเช่น
          - กฎหมายภาษี e-Payment การรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการ e-Wallet จะต้องนำส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร โดยข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่จะต้องมีการนำส่งฯ ได้แก่ รายการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านต่อปี หรือรายการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี โดยกฎหมายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21มีนาคม 2562 เป็นต้นไป และกำหนดส่งข้อมูลฯ ให้แก่กรมสรรพากรในเดือนมีนาคม 2563 เป็นครั้งแรก
          - มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว จะได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา
          - ประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 344 (วันที่ 4 เมษายน 2562) การจัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ จากเนื้อหาในประกาศฯ ดังกล่าว กฎหมายจะให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่มีเงื่อนไขว่า ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกันจะต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และเจ้าของบัญชีจะต้องลงทะเบียนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเพื่อเป็นการยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เสียภาษีอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุด (25 เม.ย.62) โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ถึงแนวทางการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น ซึ่งในสัปดาห์หน้า กรมสรรพากรเตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์การยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน20,000 บาทใหม่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ สำหรับประกาศใหม่นี้ จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากร เพื่อประมวลผลว่าผู้ฝากเงินรายใดมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท จากนั้นกรมสรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์ทำการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% ให้แก่กรมสรรพากร
          - แต่หากผู้ฝากเงินรายใดที่ไม่ประสงค์จะให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่กรมสรรพากร ก็สามารถแจ้งกับธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะทำการหักดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมดให้แก่กรมสรรพากร แม้ว่าผู้ฝากเงินจะมีรายได้จากดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000บาทก็ตาม และหากผู้ฝากเงินเห็นว่าไม่มีภาระดอกเบี้ยเงินฝากต้องเสียภาษี ก็ให้มาขอยื่นคืนภาษีตอนสิ้นปีภาษีได้
          - สำหรับการนำส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ให้กับกรมสรรพากรนั้น จะเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค.และ พ.ย. ของทุกปี เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ประมวลผลและส่งให้ธนาคารพาณิชย์เก็บภาษีดอกเบี้ยผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ในเดือน มิ.ย.และ ธ.ค. ของทุกปี
          นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายภาษีอากรที่กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายที่น่าสนใจ ได้แก่
          - ร่างกฎหมายภาษีที่ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 โดยสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก "กองทุนรวม" ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนที่เป็น "รายได้ดอกเบี้ย" ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้โดยตรง กับ การลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ โดยอ้อมผ่าน "กองทุนรวม" ซึ่งหากร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ อาจมีผลกระทบกับกองทุนรวมฯ ที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ ที่อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ลดลง เนื่องจากภาระภาษีดังกล่าว รวมทั้ง นักลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนฯ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อาจได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมลดลงด้วยเช่นกัน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad