รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2562 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2562

          "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน ปี 2562 ยังขยายตัวได้ นำโดย ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และกรุงเทพและปริมณฑล โดยทั้ง 3 ภูมิภาคได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูงขยายตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 5 เดือนติดต่อกัน การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"

          นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน ปี 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน ปี 2562 ยังขยายตัวได้ นำโดย ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และกรุงเทพและปริมณฑล โดยทั้ง 3 ภูมิภาคได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูงขยายตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 5 เดือนติดต่อกัน การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
          ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 15.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.6 และ 8.3 ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 มีมูลค่า 1,992 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นสำคัญ ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศร้อยละ 3.7 และ 5.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนเมษายน 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 110.2 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว จากการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 2,295 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 214.8 ต่อปี ตามการลงทุนในโรงงานผลิตอาหารผสมหรืออาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสำคัญ สอดคล้องกับยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.2 และ 2.6 ต่อปี จากการขยายตัวจังหวัดเพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวเล็กน้อย สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 และ 3.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ร้อยละ4.2 และ 6.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวในอัตราการเร่งที่ร้อยละ 18.8 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เช่นเดียวกันกับยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 15.7 และ 10.0 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยฉพาะจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดช่วงตอนบนของภาคที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จังหวัดหนองคาย เลย และบึงกาฬ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ สกลนคร และนครราชสีมา เป็นต้น ส่วนยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลงร้อยละ -5.7 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปี เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 1,220 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 153.3 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ร้อยละ 8.4 และ 7.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสุโขทัย ตาก และเพชรบูรณ์ เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 550 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 4.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ส่วนยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลงร้อยละ -4.6 ต่อปี สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราชะลอลง จากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนเมษายน 2562 หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          ภาคกลาง เศรษฐกิจทรงตัว จากการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว แต่การการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 1,732 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 124.3 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตเมล็ดธัญพืชอบแห้งต่าง ๆ เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และเมล็ดแตงโมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว จากการปรับตัวลดลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวที่ร้อยละ -1.7 และ -6.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ส่วนยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี รายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ร้อยละ 1.8 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดพัทลุง นราธิวาส และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัวจากเดือนก่อน จากการปรับตัวลดลงของรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลงที่ร้อยละ -8.1 และ -1.6 ต่อปี ตามลำดับ แต่ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 10.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดชุมพร ยะลา และพังงา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad