กรมเจรจาฯ นำเกษตรกร ผู้ประกอบการโคนม-โคเนื้อ ดูงาน THAIFEX สร้างไอเดียพัฒนาสินค้า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กรมเจรจาฯ นำเกษตรกร ผู้ประกอบการโคนม-โคเนื้อ ดูงาน THAIFEX สร้างไอเดียพัฒนาสินค้า


img
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำเกษตรกร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อ เข้าร่วมงาน THAIFEX 2019 ดูการพัฒนา การสร้างสรรค์สินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หวังช่วยจุดประกายความคิดนำมาพัฒนาสินค้าของตนเอง ก่อนใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการขยายตลาดต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้นำคณะเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อ เข้าชมงานมหกรรมอาหารเอเชีย หรือ THAIFEX – World of Food ASIA 2019 ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรและผู้ประกอบการไทยบุกตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยในปีนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อกว่า 30 ราย ให้ความสนใจเข้าร่วมดูงานเพื่อชมการพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าอาหารโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นม และมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เช่น นมเปรี้ยว เนยแข็ง เนย และไอศกรีม รวมถึงผลิตภัณฑ์โคเนื้อ เช่น เนื้อโคขุน เนื้อพรีเมี่ยม ทั้งสด แช่แข็ง และแปรรูป

“การจัดคณะเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อ เข้าร่วมชมงาน THAIFEX 2019 ดังกล่าว ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ทราบถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ความต้องการของตลาด และยังจะช่วยสร้างเครือข่ายที่จะสามารถใช้ต่อยอดพัฒนาธุรกิจทั้งด้านส่งออกและนำเข้าต่อไปในอนาคต”นางอรมนกล่าว
        
นางอรมนกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบเกษตรกรโคนมและโคเนื้อ ในภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่ปลายปี 2560 เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก และสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก เพราะประเทศคู่เจรจาส่วนใหญ่ เช่น อาเซียน จีน ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว และยังช่วยในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ารับมือที่ไทยจะต้องเปิดตลาดสินค้านมและเนื้อโคในปี 2564 และ 2568 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP)
        
ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อของไทย มุ่งมั่นที่จะปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่าย การแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายได้มาตรฐานสากล การรักษามาตรฐานสินค้าให้อยู่ในระดับพรีเมียมตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้มีคุณภาพดี การเอาใจใส่ในการเลี้ยง การตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าเนื้อโค การปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าให้แก่ผู้บริโภค
        
สำหรับตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย อาเซียนมีสัดส่วนประมาณ 81% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน เป็นตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนโคมีชีวิต ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมา และเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น เมียนมา และกัมพูชา  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad