นางสาวสมจินต์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 5.54 หมื่นล้านบาท ขณะนี้กนอ.ได้ส่งร่างสัญญา ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจแล้ว และนำเข้าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งระหว่างนี้กพอ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้นมาประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างสัญญาให้ครอบคลุมมากขึ้น
“คาดว่าจะหาข้อสรุปได้ภายในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน 2562 จากนั้นจะนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ครม.อนุมัติโครงการ ก่อนที่จะลงนามสัญญาภายในเดือนกันยายนต่อไป” นางสาวสมจินต์กล่าว
ส่วนความกังวลว่าจะมีผู้คัดค้านระหว่างการรับฟังความคิดเห็นนั้นมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เพราะเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว 3 ครั้ง พร้อมมีการอธิบายให้ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าตอนนี้มีมาตรการที่จะลดผลกระทบ และชี้แจ้งถึงสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ คือ เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังเสนอแนะว่าหากมีการฟ้องร้องกันในอนาคต ควรจะอนุญาตให้เฉพาะบริษัทคู่สัญญามีสิทธิ์ฟ้องร้องรัฐได้เท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้บริษัทที่ร่วมทุนกับคู่สัญญาฟ้องร้องกับทางภาครัฐได้
ส่วนในเรื่องของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตก๊าซ แอลเอ็นจี (ชิปเปอร์) โดยก่อนหน้านี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) ในส่วนของ กนอ. ขณะนี้ อยู่ระหว่างการนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือก และจะเชิญภาคเอกชนเข้ามารับฟัง เพื่อแจ้งมติต่อ กพอ. และความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เบื้องต้นทางภาคเอกชนที่จะแบ่งสัดส่วนที่ต้องให้แก่รัฐ แต่ต้องรอความชัดเจนในเรื่องของรายละเอียด คาดว่าจะหาข้อสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพราะบางบริษัทต้องรอให้ผู้บริหารที่มีอำนาจในการอนุญาต เป็นผู้อนุมัติก่อนถึงจะสรุปได้ แต่ในเรื่องของรายได้ที่รัฐได้ไปรับอาจจะมีการกำหนดราคาไว้แล้ว หากในอนาคตราคาก๊าซมีความเปลี่ยนแปลง ส่วนนี้เป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องรับไม่เกี่ยวกับ กนอ. เพราะได้ระบุไว้ในร่างสัญญาชัดเจนแล้ว” นางสาวสมจินต์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น