นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์มูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2562 ว่า จะอยู่ที่ 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.64% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปี ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.2% น้ำมันดิบดูไบ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามทิศทางเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง
ขณะที่ปัญหาสงครามการค้า ที่สหรัฐฯจะตอบโต้จีน มีเป้าหมายขึ้นภาษีสินค้า เพิ่มมูลค่าเป็น 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกระทบการส่งออกไทยให้ลดลงอีก 2% รวมถึงค่าเงินบาทไทย ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยการแข็งค่าขึ้นทุก 1% มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทจะลดลง 0.14% และความผันผวนของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ BREXIT ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยรัฐบาลควรเร่งการทำกิจกรรมในตลาดใหม่ เช่น อินเดีย และแอฟริกาให้เพิ่มขึ้น
โดยสรุปปัจจัยเสี่ยงสำหรับการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้มี 6 ปัจจัยเสี่ยงหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง,สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังยืดเยื้อ,ค่าเงินบาทในปี 2562 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง,ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย,ความผันผวนของราคาน้ำมันและตลาดจีนลดการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงจาก การทำข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ทันในครึ่งหลังของปีนี้ จะส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยลดลง 680 ล้านดอลลาร์ หรือส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังประมาณ 0.5% หรือกระทบต่อการส่งออกทั้งปีประมาณ 0.3% โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองลงมา คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับที่เวียดนามส่งเข้าไปจำหน่ายใน EU ซึ่งหากมีการทำ EVFTA ได้สำเร็จก็จะทำให้สินค้าเวียดนามมีความได้เปรียบทางภาษีกว่าสินค้าจากไทย พร้อมให้ไทยเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามอื่นๆ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT), ข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ 400 บาทต่อวัน ที่จะทำให้ค่าแรงของไทยสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และบรูไน โดยค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลงไป 1% คาดจะส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลง 0.06% ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากับมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จะส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลง 1.8.% หรือมีมูลค่าประมาณ 4,524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น