ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้สำรวจสภาพแม่น้ำพิจิตรและคลองข้าวตอก ลำน้ำสาขาครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.ตะพานหิน และ อ.โพทะเล จ.พิจิตรว่า มีสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใดบ้าง พร้อมสอบถามความต้องการประชาชนในพื้นที่เพื่อนำไปวางแผนพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรคาดว่าจะสำรวจเสร็จปี 2563
สำหรับสภาพของแม่น้ำพิจิตรปัจจุบันสภาพแห้ง ตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำเสียและยังประสบปัญหาผักตบชวาระบาด ปัญหาสิ่งกีดขวางตลอดลำน้ำ 83 แห่ง เช่น ฝายน้ำล้น ถนน สะพาน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำเดือดร้อน ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมากรมใช้ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั้ง 2 โครงการดังกล่าว 12 แห่ง ที่อยู่ตามแนวคลองส่งน้ำ C.1 ที่วิ่งคู่ขนานมากับแม่น้ำน่าน และ คลองส่งน้ำสาขา C.40 ซึ่งรับน้ำมาจากเขื่อนสิริกิติ์ผ่านเขื่อนนเรศวร มาเติมน้ำให้แม่น้ำพิจิตรช่วงแล้ง แต่การเติมน้ำต้องจำกัดให้เพียงปีละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น อย่างไรก็ตาม น้ำที่เติมลงไป ไม่สามารถกระจายออกไปทั่วเพราะมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปีน้ำจะน้อยมาก บางแห่งแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของแม่น้ำพิจิตรซึ่งมีประมาณ 45,000 ไร่ และของคลองข้าวตอกอีก 15,000 ไร่ รวมกว่า 60,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ทำสวนส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา และกระทบประชาชนที่อาศัยอยู่รอบแม่น้ำกว่า 5,000 ครัวเรือน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และน้ำเน่าเสียมาต่อเนื่องส่วนฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แม่น้ำพิจิตรทำหน้าที่รับน้ำส่วนเกินจากฝนตกหนักเกิดความเสียหายแก่คันคลองชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั้ง 2 แห่งดังกล่าว อีกด้วย บางปีเกิดภาวะน้ำท่วม
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรระยะเร่งด่วนนั้น กรมก่อสร้างอาคารระบายน้ำลงแม่น้ำพิจิตรเพิ่ม 10 แห่ง โดยดำเนินการปี 2562 จำนวน 7 แห่ง และอีก 3 แห่งดำเนินการปีถัดไป จะช่วยยกระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากบ่อตอกริมแม่น้ำพิจิตรมีน้ำกินน้ำใช้ช่วงฤดูแล้ง รวมถึงวางแผนขุดลอกแม่น้ำพิจิตรและคลองข้าวตอกที่ตื้นเขิน การขยายคลอง C.1 และปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอแผนเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 ปี เสร็จแล้วจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำให้พื้นที่เกษตรกว่า 60,000 ไร่ และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 5,000 ครัวเรือน อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังช่วยรักษาระบบนิเวศด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น