เปิด5ข้อ หารือที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน2-6ก.ย.นี้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เปิด5ข้อ หารือที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน2-6ก.ย.นี้


10 ประเทศอาเซียน เตรียมผลักดันข้อเสนอ 5 ข้อต่อที่ประชุม รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน(AMEM)ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 2-6 ก.ย. 2562 ได้แก่ 1.การขยายกรอบความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้า ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ 2.ผลักดันมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมเป็นมาตรฐานเดียวกัน 3.เร่งรัดเดินหน้าสู่เป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในอาเซียนให้ได้ 23% ในปี 2568 4.ส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และ 5.ตั้งเป้าหมายใหม่ลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้สูงขึ้น ส่วนอนาคตความร่วมมือเชื่อมโยงท่อก๊าซฯอาจเปลี่ยนเป็นความร่วมมือทางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)แทนการเชื่อมท่อ เหตุลดการสูญเสียและมีประสิทธิภาพสูงกว่า  
นายพูนพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะผลักดัน 5 เรื่องในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน(AMEM) ครั้งที่ 37 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่2-6 ก.ย. 2562 ซึ่งประกอบด้วย 1.ผลักดันให้ขยายการเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ(ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย) ให้มากขึ้นจาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในที่ประชุม AMEM แต่จะมีการลงนามกันในภายหลังระหว่างเดือน ก.ย. –ธ.ค. 2562 ต่อไป
2.การผลักดันให้ศูนย์ตรวจสอบมาตรฐานอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถส่งผ่านสินค้าไปขายในอาเซียนได้สะดวก เพราะเป็นสินค้ามาตรฐานเดียวกัน เช่น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
3.ผลักดันให้อาเซียนเกิดการใช้พลังงานทดแทนสูงขึ้นสู่เป้าหมาย 23% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอาเซียนใช้พลังงานทดแทนรวมอยู่ที่ 14% ซึ่งอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน
4.ผลักดันให้เกิดการส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เนื่องจากในอนาคตถ่านหินยังคงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในอาเซียนสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรถ่านหินอุดมสมบูรณ์ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตามทิศทางการใช้ถ่านหินอาเซียนยังเติบโตต่อเนื่อง แต่เป็นลักษณะการเติบโตที่ช้าลง เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติของอาเซียนจะสูงขึ้น จากคุณสมบัติที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
และ5.ผลักดันให้เกิดการตั้งเป้าหมายลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานอย่างมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนตั้งเป้าหมายจะลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้ได้ 20% ในปี 2563 แต่ปัจจุบันอาเซียนได้บรรลุผลสำเร็จแล้วตั้งแต่ปี 2560 ที่ 21.7% ดังนั้นจะต้องตั้งเป้าหมายใหม่ให้สูงและท้าทายมากขึ้น
นายพูนพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการประชุม AMEM ครั้งนี้จะนำไปสู่การลงนาม 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายกรอบความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ และการลงนามแลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษาวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพ และความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กับศูนย์พลังงานอาเซียน
อย่างไรก็ตามด้านความร่วมมือท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างอาเซียนนั้น ที่ผ่านมามีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต เนื่องจากอาเซียนพบว่าการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ทางเรือมีประสิทธิภาพลดการสูญเสียได้มากกว่า หลายประเทศเริ่มสร้างคลังและระบบรองรับก๊าซ LNG มากขึ้น ดังนั้นความร่วมมือด้านก๊าซฯ อาจเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการค้าขายก๊าซฯกันมากขึ้นแทนการเชื่อมโยงท่อก๊าซฯ
ทั้งนี้ปัจจุบันอาเซียนยังมีการเชื่อมโยงท่อก๊าซฯ แบบทวิภาคี 2 ประเทศ เช่น ไทย-มาเลเซีย, มาเลเซีย-อินโดนีเซีย, บรูไน-มาเลเซีย และฟิลิปปินส์กับหมู่เกาะในประเทศ เป็นต้น สำหรับการเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือด้านก๊าซฯไปเป็นการส่งเสริมการค้าขายก๊าซฯดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาในระดับรัฐมนตรีอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือกันในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป
นายพูนพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. 2562  ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยจะมี 8 ประเทศนอกสมาชิกอาเซียนร่วมสังเกตการณ์ด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
ซึ่งวันที่ 2-3 กย.จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน จากนั้นวันที่ 4-5 ก.ย. 2562 จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ทั้งนี้จะมีการจัดงาน ASEAN Energy Business Forum(AEBF) ระหว่าง 2-5 ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการและแสดงเทคโนโลยี คู่ขนานกับการจัดประชุม AMEM   และในวันที่ 4 ก.ย. 2562 ในช่วงค่ำจะมีพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้มีการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ถ่านหินสะอาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป
สำหรับ 10 ประเทศ สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ ไทย
บรูไนดารุส-ซาลาม   เวียดนาม   ลาว   เมียนมาร์  และกัมพูชา ซึ่งการประชุม AMEM ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad