สพด.หนองคายแหล่งเรียนรู้สร้างความสำเร็จสู่เกษตรกร - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สพด.หนองคายแหล่งเรียนรู้สร้างความสำเร็จสู่เกษตรกร

รายงานพิเศษ : สพด.หนองคายแหล่งเรียนรู้สร้างความสำเร็จสู่เกษตรกร
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เป็นนโยบายหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ต้องการสร้างจุดเรียนรู้ในด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินภายในสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ที่มีหน้าที่สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิจัย พัฒนา ให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน พร้อมทั้งกำหนดเขตการใช้ที่ดินที่เหมาะสม เพื่อการผลิตและให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านต่างๆ ที่ถูกต้องทันสมัย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาที่ดินและน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน ภายใต้กระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วม พัฒนาหมอดินอาสา ยุวเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ให้มีความรู้ความเข้าใจการพัฒนาที่ดินและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551

น.ส.นุชจรี กองพลพรหม ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย กล่าวว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินภายในสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยจะมีการสาธิตการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสาธิตการทำการเกษตรแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และงานวิจัยทดสอบที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ประชาชน นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้กับเกษตรกรและหมอดินอาสาอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย 9 จุดเรียนรู้ ได้แก่ 1.จุดเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินการในพื้นที่ 4 ไร่ จำลองและสาธิตการดำเนินงานตามแนวทางการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่โดยแบ่งพื้นที่เป็น 30 : 30 : 30 : 10 เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้ 2.จุดเรียนรู้ด้านการผลิตปุ๋ยหมัก เป็นการผลิตปุ๋ยน้ำหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พ.ด.1 โดยมีการสาธิตการผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุที่มีในพื้นที่ เช่น เศษหญ้า ฟางข้าว กากอ้อยโดยมีการผลิตปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีเป้าหมายการผลิต 50 ตันต่อปี เพื่อใช้ในการปรับปรุงดินภายในสถานีพัฒนาที่ดินและแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่ขอรับเข้ามา 3.จุดเรียนรู้ด้านการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เป็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พ.ด.2 และสารเร่งซุปเปอร์ พ.ด.7 โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น สับปะรด พืชผัก ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พ.ด.2 และตะไคร้หอม ข่า สะเดาในการผลิตสารไล่แมลงจากสารเร่งซุปเปอร์ พ.ด.7 ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ โดยมีเป้าหมายการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรประมาณ 10,000 ลิตรต่อปี 4.จุดเรียนรู้ด้านการปลูกหญ้าแฝก เป็นการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก เช่น การปลูกป้องกันการชะล้างพังทลายของดินรอบบ่อน้ำ การปลูกหญ้าแฝกรอบโคนไม้ผล การปลูกเป็นแปลงขยายพันธุ์ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจ สามารถศึกษาดูงานและขอรับกล้าหญ้าแฝกเพื่อไปปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ โดยมีเป้าหมายในการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกร จำนวนกว่า 1,000,000 กล้าต่อปี
5.จุดเรียนรู้ด้านการปลูกไม้ผล เป็นการสาธิตการปลูกไม้ผลในพื้นที่ 10 ไร่ ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ มะพร้าว มะม่วง มะนาว และทุเรียน เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมของดินในพื้นที่กับการปลูกไม้ผล เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้กับเกษตรกรที่สนใจในการปลูกไม้ผลมาศึกษาเรียนรู้ได้ 6.จุดเรียนรู้ด้านการปลูกอ้อย เป็นการสาธิตการผลิตอ้อย ดำเนินการในพื้นที่ 23 ไร่ และมีการวิจัยทดสอบเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในการผลิตอ้อยเพื่อให้เกษตรกรที่สนใจในการปลูกอ้อยหรือสนใจอยากปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย สามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมในจุดเรียนรู้นี้7.จุดเรียนรู้ด้านการปลูกข้าว เป็นการสาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ หอมมะลิ 105ในพื้นที่ 8 ไร่ โดยมีการวิจัยทดสอบเกี่ยวกับการจัดการดิน เพื่อปลูกข้าวในชุดดินนครพนม เพื่อเป็นข้อมูลในการให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดหนองคายต่อไป 8.จุดเรียนรู้ด้านการปลูกป่าอนุรักษ์ ดำเนินการในพื้นที่ 30 ไร่ โดยปลูกไม้สัก ยางนา พะยูง ชิงชัน ประดู่และตะเคียน ซึ่งปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์และลดภาวะโลกร้อน และ 9.จุดเรียนรู้ด้านการปลูกไม้ไผ่ ดำเนินการในพื้นที่ 10 ไร่ โดยจัดทำเป็นแปลงรวบรวมสายพันธุ์ไผ่ต่างๆ เช่น ไผ่เลี้ยง ไผ่ตง ไผ่กิมซุง และไผ่บงเป็นต้น เพื่อไว้ใช้สอยในการทำกิจกรรมต่างภายในสถานีพัฒนาที่ดินและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเกษตรกรที่สนใจ
นอกจากจุดเรียนรู้ต่างๆแล้ว ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินภายในสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ยังมีแปลงสาธิตผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงมีการสาธิตวิธีการและขั้นตอนการพัฒนาที่ดินรูปแบบต่างๆให้เกษตรกรลงมือทำเองและฝึกปฏิบัติวิธีการใหม่ๆร่วมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน หรือหมอดินทั้งมาเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ตลอดจนมีอาคารที่ทำการทันสมัยพร้อมอำนวยความสะดวกในการบริการความรู้วิชาการในรูปแบบ e-bookการสืบค้นข้อมูลในรูปแบบ Application และบริการคำแนะนำการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริการวิเคราะห์ดินพร้อมแผนที่เป็นรายแปลงอีกด้วย
“ที่ผ่านมา มีเกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์ฯไม่น้อยกว่า 500 รายต่อปี และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่นำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้มาก มีรายได้เพิ่ม รวมถึงมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” น.ส.นุชจรี กล่าวทิ้งท้าย
หากผู้สนใจอยากเข้าไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินภายในสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ติดต่อสอบถามได้ที่ นายศราวุธ ศิริลักณ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ต.หาดคำ อ.เมือง จ.หนองคาย โทร. 0-4201-2535, 0-4201-2794

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad