10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์

10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ที่พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด  เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในสมองตายหรือไม่ทำงาน ส่งผลให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้
ไม่เต็มที่ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา สมองจะเสื่อมลงอย่างมากและรุนแรงขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
นพ.เกษียรสม วีรานุวัตติ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อายุรกรรม ด้านสมองและระบบประสาท รพ.สมิติเวช เผยว่า อาการและความรุนแรง อาการของโรคอัลไซเมอร์จะดำเนินไปเรื่อยๆ กินเวลาหลายปี
โดยจะแสดงอาการตามระยะเสื่อมของสมอง 3 ระยะ ดังนี้ อาการระยะแรก เริ่มด้วยความขี้หลงขี้ลืม ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น ย้ำคิดย้ำทำ และถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ลังเล
ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ รวมถึงมีความวิตกกังวลมากขึ้นตื่นตกใจง่าย อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง อาการระยะปานกลางหากผู้ป่วยละเลยอาการเริ่มต้น คิดว่าเป็นเพียงความขี้ลืมปกติปัญหาความจำอาจแย่ลงจนไม่สามารถจำชื่อคนรู้จัก หรือไม่สามารถลำดับเครือญาติคนใกล้ชิดได้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงอาจมีอาการสับสน ลืมวันเวลา นอนไม่หลับ และที่พบบ่อยคือ หลงทางไม่สามารถหาทางกลับบ้านเองได้ ความรุนแรงของอาการระยะปานกลาง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือเกิดภาวะซึมเศร้า และอาการระยะสุดท้ายเป็นระยะที่รุนแรง จนผู้ป่วย
เกิดภาพหลอน เรียกร้องความสนใจ หรือก้าวร้าวขึ้น อาการทางกาย เช่น เคี้ยวอาหารและกลืนได้ลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้  ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ ฯลฯ
สำหรับ 10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์ 
1.มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ลืมในสิ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาเร็วๆ นี้ ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องอาศัยสิ่งช่วยจำ เช่น สมุดจด หรือบุคคลในครอบครัว คอยช่วยเหลือ
2.เสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่นลืมขั้นตอนจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือขับรถ
3.รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าที่บ้านที่ทำงาน หรือเวลาพักร้อน เช่น ขับรถไปในสถานที่ที่ไปประจำจำกฎกติกาของกีฬาที่เล่นประจำไม่ได้
4.รู้สึกสับสนกับเวลาหรือสถานที่ในขณะหนึ่งๆ เช่น ไม่รู้วันที่ฤดูกาล และเวลา ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ อย่างไร
5.รู้สึกลำบากที่จะเข้าใจในภาพที่เห็นและความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือเข้าใจลำบากขึ้นกะระยะทางยากขึ้น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะบอกสีต่างๆ ยากขึ้น
6.รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำ ประโยคซ้ำๆ
7.ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวางหรือเก็บไว้และไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บรองเท้าไว้ในตู้เย็น
8.ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่ทำผม ไม่อาบน้ำ เมื่อจะไปงานสำคัญ
9.มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ปกติจะไปเล่นกีฬา พบปะเพื่อนทุกสัปดาห์ แต่วันหนึ่งกลับไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลใดๆ
10.รู้สึกว่าอารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่นดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว
หากพบสัญญาณเตือนข้อใดข้อหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่เริ่มแรกและรับการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด รวมถึงสามารถวางแผนอนาคตให้ตัวเองได้
สำหรับการชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ประจำปี 2562  ที่ลอสแองเจลิสระบุว่าการดำเนินชีวิตอย่างรักสุขภาพ  จะส่งผลดีต่อสมอง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ได้ โดยการปฏิบัติดังนี้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีกิจกรรมการกระตุ้นความคิด
โดยมีสองงานวิจัยในการประชุมชี้ว่า  ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างใส่ใจสุขภาพหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้
รายงานหนึ่งระบุว่า ผู้ที่มีกรรมพันธุ์โรคอัลไซเมอร์ จะมีความเสี่ยงสูง แต่หากดูแลสุขภาพอย่างดี สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ
สำหรับอีกรายงานได้ยืนยันว่า การพักอาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงสูงวัยที่ใช้สมองอยู่เสมอ มีศักยภาพการทำงานสูง (วัดจากคะแนนการทำงานของสมอง ระยะเวลาที่เรียนหนังสือ หน้าที่การงาน และกิจกรรมทางกายภาพ) มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเพียง 21% ต่างจากผู้ที่ไม่ค่อยได้บริหารสมองจะมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึง 113%
ส่วน การรักษาปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการใช้ยายับยั้งสาร
อะเซตีลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) เพื่อลดการทำลายสารความจำในสมอง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงควบคุมอาการของโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad