วิเคราะห์งบประมาณปี 2563 อาจขาดดุลมากกว่าคาดและขาดยุทธศาสตร์รับมือการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

วิเคราะห์งบประมาณปี 2563 อาจขาดดุลมากกว่าคาดและขาดยุทธศาสตร์รับมือการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก

        

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ 
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป 
สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

           งบประมาณปี 63 ขาดยุทธศาสตร์ในการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบสงครามทางการค้า ยังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบ ทำให้งบลงทุนยังคงอยู่ที่ 20% งบปี 63 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก อาจจะเกิดการขาดดุลมากกว่าที่คาดการณ์เพราะเศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการได้ทำให้เก็บภาษีได้น้อย มีการจัดสรรงบกลางสูงเกินไปกว่า 5 แสนล้านทำให้ขาดรายละเอียดเรื่องโครงการการใช้เงินงบประมาณ ตรวจสอบการใช้เงินยากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการถูกหั่นงบมากขณะที่งบกองทัพและความมั่นคงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา การวิจัยและสาธารณสุข รวมทั้งควรมีโครงการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม ส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ต้องเพิ่มงบทางด้านยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเสริมสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางสังคม 

          10.00 น. 29 ก.ย. 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

          สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป

          ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ตัวเลขงบประมาณปี 2563 พบว่า ยังขาดเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์เชิงรุกในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามทางการค้า ขาดการรับมือความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีโครงการหรืองบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ งบประมาณจึงไม่ได้ถูกใช้ไปอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อบริหารประเทศแบบมองไปข้างหน้า ไม่ได้มุ่งสู่การแก้ปัญหาใหญ่ๆของประเทศที่เผชิญโดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การลดการผูกขาดเพิ่มการแข่งขัน ปัญหาความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความยากลำบากทางเศรษฐกิจและหนี้สินของประชาชนระดับฐานรากและการขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน งบประมาณจำนวนไม่น้อยถูกจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านบัตรสวัสดิการคนจน ใช้วิธีการแจกเงิน มากกว่า มาตรการแบบยั่งยืนในลักษณะสร้างงาน สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ในระยะยาว งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ส่วนรายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% และคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 21.6% เห็นได้ว่า งบประมาณปี 63 ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ งบลงทุนจึงมีสัดส่วนต่ำเช่นเดียวกับโครงสร้างงบประมาณในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การที่ไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เอาจริงเอาใจในการปฏิรูประบบราชการและการลดขนาดของหน่วยราชการ ยุบและเลิกหน่วยงานที่ไม่มีภารกิจหรือไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว งบปี 63 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก เพราะไม่ได้มีโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากทั้งที่ขณะนี้เรากำลังเผชิญปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ การประมาณการรายได้จากการเก็บภาษีอาจสูงเกินไป อาจจะเกิดการขาดดุลมากกว่าที่คาดการณ์เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการทำให้เก็บภาษีได้น้อย รัฐบาลอาจสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 2.725 ล้านล้านบาทหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว มีการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยเทคโนโลยีเพื่อติดตามให้ผู้ประกอบการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวทำให้กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดสรรงบกลางสูงเกินไปกว่า 5 แสนล้านทำให้ขาดรายละเอียดเรื่องโครงการการใช้เงินงบประมาณ ตรวจสอบการใช้เงินยากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการถูกปรับลดงบค่อนข้างมาก อย่างหน่วยงานรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ตั้งงบรวมกันที่ 8,684.6 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 13.23% ที่น่าสนใจคือสำนักงานเลขาธิการสภา ถูกตัดงบในภาพรวมลงไป 18.47%
          ผศ. ดร. อนุสรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า ขณะที่หน่วยงานของศาล ประกอบด้วย สำนักงานศาลปกครอง, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งงบรวมกันที่ 20,234.9 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 10.49% ขณะที่น่าสนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับได้รับงบเพิ่ม 25.83% กระทรวงกลาโหม ขอตั้งงบ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นเงิน 6,226.8 ล้านบาท (คิดเป็น 2.74%) โดยกองทัพบก ได้รับงบ 113,677.4 ล้านบาทมากที่สุด งบประมาณกลาโหมควรเน้นไปที่ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติจะดีกว่า โดยเฉพาะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา การวิจัยและสาธารณสุข รวมทั้งควรมีโครงการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม มีมหาวิทยาลัย 53 แห่ง ถูกปรับลดงบประมาณลง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลถูกปรับลดงบสูงสุดมากกว่าพันล้านบาท ส่วนอีก 23 สถาบันถูกลดงบประมาณ ไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน กระทรวงอุดมศึกษาควรไปต่อรองไม่ให้มีการปรับลดงบมากเกินไปเพราะจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาขั้นสูงของประเทศได้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad