สถาบันอัญมณีฯ ดันใช้บล็อกเชน ตรวจสอบที่มาที่ไป “พลอยสี” สร้างความเชื่อมั่นการซื้อขาย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

สถาบันอัญมณีฯ ดันใช้บล็อกเชน ตรวจสอบที่มาที่ไป “พลอยสี” สร้างความเชื่อมั่นการซื้อขาย

สถาบันอัญมณีฯ ดันใช้บล็อกเชน ตรวจสอบที่มาที่ไป “พลอยสี” สร้างความเชื่อมั่นการซื้อขาย

img
สถาบันอัญมณีฯ เตรียมนำ “บล็อกเชน” มาใช้ในการตรวจสอบ “พลอยสี” หวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรม ผู้ซื้อและผู้ขาย เผยจะเป็นการรับประกันที่มาที่ไปของสินค้า ตรวจสอบได้มาจากไหน ใครเจียระไน เหมือน “เพชร” ที่เดอเบียร์สนำบล็อกเชนมาใช้จนประสบความสำเร็จ เล็งเปิดตัวธ.ค.ปีนี้

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า จีไอทีกำลังจะผลักดันให้มีการนำระบบ “บล็อกเชน” มาใช้ในการตรวจสอบที่มาที่ไปของ “พลอยสี” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยว่าสินค้าที่จำหน่ายมีแหล่งที่มาของวัตถุดิบชัดเจนว่ามาจากที่ไหน มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และไม่ได้มาจากเหมืองที่ใช้แรงงานทาส หรือเป็นสินค้าที่ได้มาจากการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นประเด็นที่หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญในการตรวจสอบ

“ทุกวันนี้ มีการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับไปยังสินค้าต่างๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อย่างอาหารก็มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ดูได้จนถึงใครปลูก ใครเลี้ยง มาจากฟาร์มไหน หรือสินค้าเพชร ที่ปัจจุบันเดอเบียร์ส ได้นำระบบบล็อกเชนมาใช้ จนประสบความสำเร็จ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับวงการค้าเพชรของโลก ที่สามารถดูได้หมดว่าเพชรเม็ดนี้มาจากเหมืองไหน ใครเจียระไน ผ่านมาแล้วกี่มือ”

นางดวงกมลกล่าวว่า ความคืบหน้าขณะนี้ จีไอทีได้ร่วมมือกับ Everledger ซึ่งเป็นบริษัทไอทีที่พัฒนาระบบบล็อกเชน ร่วมกันวางระบบว่าจะเริ่มตรวจสอบจากที่ไหน จะเริ่มตั้งแต่เหมืองที่ทำพลอย หรือเริ่มจากดีลเลอร์ หรือคนเจียระไน เพราะพลอยไม่เหมือนเพชร ที่ทำได้ง่ายกว่า เพราะเดอเบียร์สคุมเหมืองเพชรเกือบทั้งโลก แต่พลอยมีหลากหลายมาก มีหลายประเทศที่ทำเหมือง มีคนซื้อคนขายเป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นมองว่าอาจจะเริ่มจากดีลเลอร์ คนเจียระไน ซึ่งต่อไปจะรู้เลยว่าพลอยที่ซื้อไป มาจากใคร แล้วใครเจียระไน หรือหากนำพลอยก้อนใหญ่ไปแตกเป็นเม็ดเล็ก ก็จะรู้แตกไปกี่ก้อน แล้วจากนั้นไปอยู่ตรงไหน

สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ก็คือ จะสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยในฐานะเป็นผู้นำด้านการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และช่วยสร้างคันทรี่ อิมเมจ เพราะปัจจุบันนี้ การซื้อพลอย ปกติจะถามหาใบรับรอง หรือที่เรียกกันว่าใบเซอร์ แต่หากมีบล็อกเชน ก็จะยิ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวระบบบล็อกเชนที่ใช้ตรวจสอบที่มาที่ไปของพลอยสีได้ประมาณเดือนธ.ค.2562  

นางดวงกมลกล่าวว่า จีไอทียังเตรียมที่จะผลักดันให้มีมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็ป) ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานกลางที่ห้องแล็ปควรจะมี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับห้องแล็ป เพราะในต่างประเทศการเปิดห้องแล็ป จะมีมาตรฐานกำหนดไว้เลยว่าต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง เช่น เครื่องไม้เครื่องมือ คนตรวจสอบต้องมีวุฒิอะไร ความเชี่ยวชาญระดับไหน ถ้าไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถเปิดได้ แต่ของไทย จีไอทีจะทำมาตรฐานออกมา แล้วให้ห้องแล็ปนำไปใช้เป็นเกณฑ์ หากอยากอบรม ก็จะเปิดสอนให้ เมื่อผ่านการอบรม ก็จะได้รับการรับรอง ซึ่งสามารถนำไปใช้สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ว่าห้องแล็ปของตนเองมีมาตรฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad