เพื่อชีวิตครอบครัวที่ดี! จะมีลูกทั้งทีต้องมีการวางแผน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เพื่อชีวิตครอบครัวที่ดี! จะมีลูกทั้งทีต้องมีการวางแผน


       เชื่อกันว่าการมีบุตรจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ แต่ก็มีบางครอบครัวที่มีบุตรในขณะที่ยังไม่พร้อม ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายหลังการคลอดบุตร ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งในหญิงที่ไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นหรือวัยเรียน และอีกหลากหลายปัญหาที่พบเห็นได้บ่อยๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมเราจึงต้องมีการวางแผนการมีบุตร
เมื่อใดจึงเริ่มวางแผนการมีบุตร

นายแพทย์ธีธัช อดทน สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวถึงการเตรียมตัวก่อนมีบุตรว่าถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากมีการเตรียมตัวดี หรือมีการวางแผนการมีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย การตั้งครรภ์นั้นจะทำให้คุณแม่แข็งแรง คุณลูกปลอดภัย ซึ่งการวางแผนการมีบุตรนั้น สามารถทำได้ทั้งก่อนแต่งงานหรือหลังแต่งงานแล้วโดยต้องวางแผนร่วมกันทั้งฝ่ายหญิงและชาย และควรเริ่มวางแผนก่อนจะมีบุตรจริงอย่างน้อย 1-3 เดือน
การวางแผนการมีบุตรทำได้โดยการเข้าพบสูติแพทย์ โดยต้องพบแพทย์ทั้งสองฝ่าย เพื่อดูความพร้อมในการมีบุตร ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เก็บประวัติการใช้ยา โรคประจำตัว และอื่นๆ ที่จะใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อวางแผนการมีบุตร การฝากครรภ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจหลังคลอด   
ต้องทำอะไรบ้างสำหรับการวางแผนการมีบุตร
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายชายจะตรวจความเข้มข้นของเลือด โรคโลหิตจาง หรือความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดต่างๆ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรคเอชไอวี โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี หมู่เลือด รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนไทย เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
ส่วนฝ่ายหญิงจะมีการตรวจเหมือนกับฝ่ายชาย แต่จะมีการตรวจเพิ่มเติมในกลุ่มของภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันแพทย์จะแนะนำให้รับวัคซีนก่อนที่จะเริ่มการตั้งครรภ์ เพราะหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้บุตรพิการแต่กำเนิดได้ แต่หากมีภูมิคุ้มกันแล้วแม้จะได้รับเชื้อมา ความรุนแรงหรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ก็จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อรับวัคซีนโรคหัดเยอรมันแล้ว แนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในช่วงแรกของการตั้งครรภ์


สุขภาพแข็งแรงดี จำเป็นต้องตรวจร่างกายหรือไม่
ไม่ว่าสุขภาพจะแข็งแรงเพียงไร ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อวางแผนการมีบุตรเพราะโรคทางพันธุกรรมและโรคทางเพศสัมพันธ์บางอย่างไม่แสดงอาการให้เห็น แต่จะทราบได้จากการตรวจเลือดและซักประวัติ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง หากตรวจพบก่อนอาการแสดงออกให้เห็น เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างคู่และยังช่วยป้องกันการส่งผลเสียไปยังลูกด้วย
คำแนะนำจากคุณหมอสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร
นายแพทย์ธีธัช ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ เพราะการตรวจเช็คบางอย่างจะทำให้สามารถรู้ และวางแผนการรักษาอาการหรือความผิดปกติที่ไม่แสดงออกได้ดีกว่ารอจนมีอาการหรือความผิดปกติ และสำหรับผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ซึ่งในคนไทยเป็นพาหะทางพันธุกรรมที่พบค่อนข้างบ่อย หากตรวจพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่ ถือเป็นคู่เสี่ยงที่จะเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งคุณหมอจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการมีบุตรได้อย่างถูกต้อง 
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและการวางแผนการมีบุตร หรือคำถามด้านสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาได้จากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวชอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลสหเวช จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก: Principal Healthcare Company

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad