สวทช. จัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน “นักวิทย์ พิชิตภัยพิบัติ” แก่นักเรียนประถมปลายทั่วประเทศ ปลูกฝังการรักษ์โลก และสนุกพร้อมป้องกันภัยพิบัติด้วยวิทยาศาสตร์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สวทช. จัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน “นักวิทย์ พิชิตภัยพิบัติ” แก่นักเรียนประถมปลายทั่วประเทศ ปลูกฝังการรักษ์โลก และสนุกพร้อมป้องกันภัยพิบัติด้วยวิทยาศาสตร์

สวทช. จัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน “นักวิทย์ พิชิตภัยพิบัติ” แก่นักเรียนประถมปลายทั่วประเทศ ปลูกฝังการรักษ์โลก และสนุกพร้อมป้องกันภัยพิบัติด้วยวิทยาศาสตร์

 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ (ACM) จัดกิจกรรม “มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน นักวิทย์ พิชิตภัยพิบัติ” แก่นักเรียนชั้นประถมปลาย จำนวนกว่า 100 คนจากทั่วประเทศ

ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ภัยพิบัติในท้องทะเล การพิทักษ์ปะการัง อันตรายจากฝุ่น PM2.5 การนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันฝุ่น PM2.5 และการนำใบไม้จากธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นภาชนะ เพื่อพิทักษ์รักษาระบบนิเวศของโลกให้สมดุล ผ่านกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เด็ก ๆ ลงมือทำด้วยตนเอง ได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์พร้อมความสนุกระหว่างทำกิจกรรม และมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ (ACM) สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหนึ่งในเครือข่ายโครงการมหาวิทยาลัยเด็กฯ โดยกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็กที่จัดในครั้งนี้ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนปลายจำนวนกว่า 100 คนในหัวข้อกิจกรรม “นักวิทย์ พิชิตภัยพิบัติ” ซึ่งเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ภัยพิบัติในท้องทะเล เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และงานวิจัยเกี่ยวกับการพิทักษ์ปะการัง รวมถึงอันตรายจากฝุ่น PM2.5 การนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ๆ ตลอดจนกิจกรรมการนำใบไม้จากธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นภาชนะ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวการป้องกันตนเองจากภัยพิบัติ ได้แนวคิดเกี่ยวกับวัสดุทางเลือกจากธรรมชาติทดแทนโฟมและพลาสติก รวมถึงการพิทักษ์รักษาสิ่งมีชีวิตที่ช่วยให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล และสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นล้วนเป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สนุกสนานและน่าสนใจ
  
กิจกรรม “มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน นักวิทย์ พิชิตภัยพิบัติ” ในครั้งนี้เป็นกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์แบบเช้าเย็นกลับที่จัดขึ้นในช่วงที่เด็ก ๆ นักเรียนปิดเทอม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างทัศนคติที่ดีของเยาวชนไทยต่อวิทยาศาสตร์ และเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กผ่านการลงมือทำการทดลองที่ท้าทายและน่าสนใจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยดูแลให้คำแนะนำระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง โดยกิจกรรมครั้งนี้เริ่มต้นจากการให้ความรู้ในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ปะการัง ผ่านกิจกรรมนักวิจัยพิทักษ์ รักษ์ปะการัง นำโดยพี่ ๆ คณะนักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ที่มาให้ความรู้ผ่าน 2 ฐานกิจกรรม ได้แก่ ฐานเรียนรู้โครงสร้าง DNA ของปะการัง ให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่าโครงสร้างและองค์ประกอบของดีเอ็นเอเป็นอย่างไร รวมถึงฝึกทักษะประกอบโครงสร้างของดีเอ็นเอในรูปแบบโมเดลกระดาษ และฐานที่ 2 คือ ฐานการสกัด DNA ของสิ่งมีชีวิต สาธิตวิธีการสกัดดีเอ็นเอจากสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่าทำไมเราต้องศึกษา DNA ของปะการัง โดยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการสกัดดีเอ็นเอด้วยตนเองจากดอกไม้หรือใบไม้ต่าง ๆ เริ่มต้นจากการทำให้เซลล์แตกด้วยการบด จากนั้นทำการแยกดีเอ็นเอออกจากเซลล์ และทำให้ดีเอ็นเอตกตะกอนรวมกันเป็นเส้นใยแขวนลอยอยู่ในสารละลายด้านบน โดยมีพี่ ๆ ทีมวิจัยดูแลการทดลองและให้คำแนะนำเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด
  
และอีกหนึ่งหัวข้อในกิจกรรมครั้งนี้คือ "นักวิทย์ พิชิตฝุ่นจิ๋ว" ที่ให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จาก ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ตั้งแต่ที่มาและพิสูจน์ว่าจะสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์และทำลายสุขภาพเราได้หรือไม่อย่างไร ก่อนจะไปรู้จัก "หน้ากากจากเส้นใยนาโน" พร้อมเรียนรู้ว่า หน้ากากชนิดต่าง ๆ เหมาะที่จะใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ตามมาด้วยฐานกิจกรรมนักวิทย์ พิชิตฝุ่นจิ๋ว โดยพี่ ๆ ทีมนักวิจัยและประชาสัมพันธ์นาโนเทค ที่เด็ก ๆ จะรับบทเป็นนักสืบ หาหลักฐานว่า เส้นใยหลายประเภทที่จะได้เจอนั้น อันไหนคือเส้นใยนาโน ก่อนจะได้ทดลองทำหน้ากากจำลอง และปิดท้ายด้วยการระดมสมองที่เด็ก ๆ ช่วยกันหาวิธีช่วยกันป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5
  
ขณะที่อีกฐานกิจกรรมที่จัดกิจกรรมคู่ขนานกัน คือ ฐานกิจกรรมประดิษฐ์ภาชนะกู้โลกจากวัสดุธรรมชาติ นำโดย อ.นงลักษณ์ เล็กรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และคณะ ที่ให้เด็ก ๆ ได้ทดลองลงมือทำภาชนะจากใบไม้ต่าง ๆ ที่มีในท้องถิ่น เช่น ใบตอง ใบจำปี ใบมะตาด หยวกกล้วย เป็นต้น โดยใช้แป้งมันหรือแป้งข้าวเหนียวที่มีคุณสมบัติเป็นกาว เพื่อให้ปลอดภัยเมื่อนำไปใช้เป็นภาชนะใส่ของรับประทาน รวมถึงเด็ก ๆ ยังได้ร่วมกันทำกระทงใบตอง จากเครื่องอัดกระทงใบตอง ซึ่งเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์จากวิชาโครงงานวิศวกรรมเกษตรของนิสิตและอาจารย์ในภาควิชาด้วย ทำให้ได้กระทงใบตองที่ปราศจากวัสดุมีคม เช่น ไม้กลัดหรือลูกแม็ก ช่วยลดขั้นตอนการแยกวัสดุที่มีคมออกจากถ้วยใบตองเมื่อใช้บรรจุอาหาร แล้วท้ายที่สุดภาชนะนี้เมื่อทิ้งหรือเลิกใช้งานแล้วยังสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้อีกด้วย
  
น้องไอโฟน ด.ช.อาทมาฎ พึ่งอำพล นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ บอกว่า รู้สึกสนุกสนาน ได้เรียนรู้เรื่องฝุ่น และการทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ รวมทั้งได้รู้ถึงการใช้ผ้าปิดปากให้ถูกต้อง ตามสิ่งที่เราเจอ ถ้ามีฝุ่นก็ใช้ผ้าปิดปากเพื่อกันฝุ่น ถ้าไม่สบายก็ใช้ผ้าปิดปากอนามัย ส่วน น้องแสนดี ด.ญ.กตัญญุตา สุวรรณปัฏนะ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนธรรมภิรักษ์ บอกว่า การมาค่ายครั้งนี้ได้รับความรู้มากมาย ทั้งเรื่องปะการังฟอกขาว เรื่อง DNA เรื่องฝุ่น PM2.5 หรือการนำสิ่งที่เป็นวัสดุธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นจานเพื่อลดการใช้โฟมที่เป็นอันตรายต่อตัวเรา ซึ่งกิจกรรมวิทยาศาสตร์ภายในค่ายที่พี่ ๆ นำมาให้ทดลองทำมีความสนุกสนานมาก อย่างฐานที่เรียนรู้ PM2.5 ต้องใช้กล้องขนาดเล็กมาส่องใยของผ้าแต่ละชนิด เพื่อทายปริศนาว่า เส้นใยไหนเป็นเส้นใยนาโน รวมถึงตอนเขียนบอร์ดระดมความคิดกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มเพื่อสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้และการป้องกัน PM2.5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad