ดันไทยเป็นHubลุ่มน้ำโขง สทนช.รุกขยายความร่วมมือตปท. - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ดันไทยเป็นHubลุ่มน้ำโขง สทนช.รุกขยายความร่วมมือตปท.

                               ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ระยะเวลา 2 ปีในการก่อตั้ง สทนช. มีการขยายความร่วมมือด้านการต่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของไทยให้ต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสทนช.ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและลงนามบันทึกความร่วมมือในเวทีนานาชาติ อาทิ ลงนามบันทึกความเข้าใจกับประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2561 ในฐานะประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและติดต่อสัมพันธ์กับไทยมาตลอด
นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการีร่วมหารือกับ สทนช. ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางน้ำของภูมิภาค โดยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำดานูบร่วมกับ 10 ชาติสมาชิกของฮังการี ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับความร่วมมือในการบริหารลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยกับ 5 ชาติสมาชิก ตลอดจนนำความรู้การบริหารจัดการน้ำเสียที่นำบางส่วนมาบำบัดแล้วใช้ต่อและนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำเสียของไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ด้านภูมิภาคเอเชีย สทนช. ยังมีบทบาทสำคัญในเวทีสภาน้ำเอเชีย (Asia WaterCouncil) องค์กรระดับภูมิภาคของสภาน้ำโลก (World Water Council) มีสมาชิก 130 องค์กรทั่วโลก โดย AWC เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการเสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมด้านน้ำ โดยมีเลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการ AWC ระหว่างปี 2559 - 2561 และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ AWC
ขณะเดียวกัน สทนช.เข้าไปมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย 6 ชาติสมาชิก ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว ไทย
กัมพูชาและเวียดนาม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สทนช. เป็นประธาน เลขาธิการ สทนช. เป็นรองประธาน และให้สทนช. ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย
ทั้งนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มแม่น้ำโขง ถือเป็นกรอบความร่วมมือด้านน้ำที่สำคัญของภูมิภาค เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2500 และต่อมาพัฒนาความร่วมมือต่อเนื่องกระทั่งเป็นกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง(Mekong-Lanchang Cooperation : MLC) ขึ้น เมื่อปลายปี 2558 โดยไทยได้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือ (Hub) ของแม่น้ำโขงในการประสานข้อมูลทั้งตอนบนและตอนล่างของแม่น้ำโขง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมของทุกฝ่ายและสนับสนุนการใช้น้ำนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ตลอดจนมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“ที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมโครงการด้านทรัพยากรน้ำของไทย ยังได้รับอนุมัติจากประเทศสมาชิก MLC ให้เป็นเจ้าภาพ2 โครงการ ภายใต้แผนปฏิบัติการสาขาทรัพยากรน้ำ 5 ปี (พ. ศ. 2561-2565) ประกอบด้วยโครงการกลไกความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการศึกษาประเมินด้านน้ำท่วมและน้ำแล้งเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา รวมถึงศึกษาการจัดตั้งกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาในฤดูน้ำมาก พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับชุมชน เพื่อแสวงหาบริบทการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยอีกด้วย” เลขาธิการสทนช. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad