'Speed 5G-ไฮบริด' กรอบงานใหม่หนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี' - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

'Speed 5G-ไฮบริด' กรอบงานใหม่หนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'

'Speed 5G-ไฮบริด' กรอบงานใหม่หนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


 วช.เปิดเวทีเสวนาดึงนักวิชาการสายสังคม สายเศรษฐศาสตร์และภาคอุตสาหกรรม แชร์ไอเดียวางกรอบวิจัยไทยตอบโจทย์ท้าทายขับเคลื่อนระบบวิจัยไทยหนุนยุทธศาสตร์ชาติ ส.อ.ท.ระบุนักวิจัยรุ่นใหม่ต้อง “ไฮบริด” เร็วและรู้ทุกศาสตร์ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

157234065929
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  จับมือบรรดานักวิจัย ร่วมเปิดมุมมองในการเสวนา New NRCT:Next Research Challenges to Transformation ความท้าทายของการวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม การเกษตร และเทคโนโลยี เพื่อให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นระบบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการพัฒนาให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี 
157234065929
ศ.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในสภาวการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนกรอบการวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันต่อสภาวการณ์โลกและสามารถขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมใน 7 ประเด็นหลัก คือ 1.การจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศงานวิจัยที่สมบูรณ์ เพื่อให้รู้สถานะของงานวิจัย  2.การพยากรณ์และตั้งโจทย์งานวิจัยล่วงหน้า   3.สร้างนักวิจัย ที่สามารถนำงานวิจัยมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง อีกทั้งต้องปลูกฝังให้มี Passion และความรู้ที่หลากหลาย   4.การลงทุนวิจัย ที่จะต้องดึงนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมกับงานวิจัย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถยกระดับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ  5.การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและตรงจุด  6.กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมีข้อจำกัดสูง จึงต้องหาวิธีการที่ทำให้กฎระเบียบคล่องตัวมากยิ่งขึ้น  7.การประเมินผล จะต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังว่า นวัตกรรมและงานวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ และมีการนำไปใช้ประโยชน์จริงอย่างไรบ้าง
ด้าน ศ.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการวิจัยในอนาคต ดังนี้  1.แก้ไขจุดอ่อนด้านการศึกษาด้วยโครงการวิจัยในโรงเรียน  2.ควรจัดการความรู้และประเมินผลตอบแทนจากการวิจัยเป็นระยะ เพื่อให้ได้แนวทางที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคม 3.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรตั้งตัวชี้วัด (KPI) ที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับบุคคลและระดับสถาบันการศึกษาที่ทำผลงานวิจัยรับใช้สังคมและอุตสาหกรรม  4.รัฐบาลอาจสร้างแรงจูงใจโดยให้มี Block grant เป็นรางวัลสำหรับหน่วยงานวิจัยที่มีผลงานความคุ้มค่าสูง  5.รัฐอาจพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าส่งออกจากสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อนำมาเป็นกองทุนเพื่อการวิจัย  6.ควรจัดทำแนวทางการคิดค่าตอบแทนเทคโนโลยีจากการลงทุน R&D ในมหาวิทยาลัย
“ประเด็นวิจัยในอนาคตที่ควรให้ความสำคัญ คือ บูรพาภิวัฒน์ซึ่งเป็นการศึกษาจีนและอินเดียที่ขณะนี้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและงานวิจัย, การท่องเที่ยว จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อบูรณาการอย่างตรงจุด ไม่ใช่จะส่งเสริมในเชิงพื้นที่เท่านั้น, สังคมสูงวัย เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเมื่อเข้าสู่สูงวัย, ความเหลื่อมล้ำที่จะช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูล เงินทุนและเทคโนโลยี, การศึกษาต้องก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 และสุดท้ายคือ การปฏิรูประบบราชการไทย”
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad