หรือทะเลจะไม่เหลือปลา? หลังกรมประมงประกาศผ่อนกฎเหล็ก ‘IUU’ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

หรือทะเลจะไม่เหลือปลา? หลังกรมประมงประกาศผ่อนกฎเหล็ก ‘IUU’

หรือทะเลจะไม่เหลือปลา? หลังกรมประมงประกาศผ่อนกฎเหล็ก ‘IUU’


ชาวประมงพื้นบ้าน
ชาวประมงพื้นบ้านกำลังคัดสัตว์น้ำที่จับได้ //ขอบคุณภาพจาก: สมาคมรักษ์ทะเลไทย
กรมประมงยุคใหม่ชูนโนบายพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวประมง เน้นช่วยเหลือเยียวยาชาวประมงจากภัยธรรมชาติ และปัญหาการบังคับใช้กฎระเบียบการประมงใหม่ตามมาตรการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เผยเตรียมผ่อนคลายระเบียบการประมง ขยายจำนวนวันจับปลาทะเล และฟื้นฟูการทำประมงนอกน่านน้ำอีกครั้ง
ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดบ้านรับสื่อมวลชน พร้อมแถลงแนวนโยบาย และแผนการพัฒนาภาคประมงไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงทุกภาคส่วน ทั้งประมงน้ำจืด ประมงชายฝั่ง และประมงทะเล
เรือประมง
กองเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยเป็นปัจจัยหลักที่ส่งให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก //ขอบคุณภาพจาก: เรื่องเล่าชาวประมง
อย่างไรก็ดี มีศักดิ์ ระบุว่า แนวทางการพัฒนาการประมงไทยภายใต้การบริหารงานของตน เน้นย้ำให้มีการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และยังเน้นให้มีความสอดคล้องกับการสร้างสมดุลระหว่างการยกระดับกิจการประมงไทย และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมง ควบคู่ไปกับการดำรงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรการประมง ทั้งในแหล่งน้ำจืด และในมหาสมุทร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติภายใต้หลักการ“คนอยู่ได้ ทรัพยากรยั่งยืน ไม่ฝืนพันธะสัญญา“
มีศักดิ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สภาพปัญหาการประมงไทยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยในขณะนี้ กรมประมงกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงน้ำจืด จากความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น โดยตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดได้แก่ สภาวะแม่น้ำโขงผันผวนรุนแรง จนทำให้ปลาแม่น้ำโขงตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อชาวประมงในลุ่มแม่น้ำโขง และสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังจำนวนมาก
“ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงตั้งเป้าประยุกต์ใช้งานวิชาการในการปรับใช้ในการบริหารการทำประมงน้ำจืด และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยยึดหลักการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” มีศักดิ์ กล่าว
“ดังนั้นพันธกิจกรมประมงยุคใหม่จึงเน้นใช้ข้อมูลทางวิชาการ ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม คาดการณ์ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆและรับมืออย่างทันท่วงที รวมไปถึงวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มความต้องการตลาด ในการกำหนดยุทธศาสตร์การผลิต โดยมุ่งผลิตสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและสำรวจความต้องการตลาด เช่น ปลานวลจันทร์ ปลาบู่ ปลาพลวงชมพู เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของชาวประมง ให้รับมือกับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพ”
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงทะเล จากการบังคับใช้กฎระเบียบและมาตรการควบคุมการทำประมงเพื่อแก้ไขปัญหา IUU
อธิบดีกรมประมง
อธิบดีกรมประมง มีศักดิ์ ภักดีคง //ขอบคุณภาพจาก: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง
เขากล่าวว่า แต่เดิมปัญหาชิ้นสำคัญที่เป็นความท้าทายหลักของกรมประมง อยู่ที่การจัดระเบียบการประมงทะเล เพื่อปลดล็อคใบเหลือง IUU แต่หลังจากที่รัฐบาลและกรมประมงลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงออกกฎระเบียบมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมดูแลการทำประมง ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหา IUU และปลดล็อคใบเหลือง IUU ได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี ชาวประมงจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบที่เข้มงวดเหล่านี้ได้
“กรมประมงจึงมุ่งแก้ปัญหาให้กับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU เหล่านี้ โดยการปรับแก้ไขข้อกำหนดใดที่อาจจะส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชาวประมง บนหลักการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมง โดยยังให้ความสำคัญกับการรักษาระดับมาตรฐานการควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย” เขากล่าว
แนวทางการแก้ไขผ่อนผันข้อกำหนดการทำประมงที่อธิบดีกรมประมงได้เอ่ยถึง เพื่อบรรเทาปัญหาของชาวประมงได้แก่  การปลดล็อคใบอนุญาตเรือประมง การอนุญาตให้มีการซื้อขายโควต้าการอนุญาตจับปลา เปิดช่องให้เรือประมงที่ได้โควต้าสามารถจับปลาในทะเลได้ตลอดทั้งปี และการอนุญาตให้เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ออกทำประมงนอกน่านน้ำได้อีกครั้ง
มีศักดิ์ ย้ำว่า ข้อผ่อนผันในการทำประมงดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดปัญหาการตักตวงทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลจนเกินพอดีอย่างแน่นอน เพราะข้อกำหนดการปิดอ่าว ห้ามทำประมงในฤดูวางไข่ ยังคงบังคับใช้ตามปกติ อีกทั้งกรมประมงยังได้นำเอาระบบการคำนวณ maximum sustainable yield (MSY) หรือจำนวนการจับสัตว์น้ำมากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ โดยไม่ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเลและความยั่งยืนทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อจำกัดจำนวนการจับสัตว์น้ำไม่ให้เกินขีดความสามารถที่ระบบนิเวศรองรับได้
นอกจากนี้ เขาระบุเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการดำเนินการยกระดับการทำประมงโดยเรือประมงพาณิชย์ ให้มีมาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้เรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ทั้งหมด ได้ติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) เพื่อให้สามารถควบคุมและติดตามการทำประมงของเรือดังกล่าว ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป เรียบร้อยแล้ว รวมถึงการปฏิบัติมาตรการแจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมงอย่างเคร่งครัด ทำให้ขณะนี้ภาครัฐสามารถติดตามตำแหน่งของเรือประมงพาณิชย์ พฤติกรรมการจับปลา และรวมถึงจำนวนชนิดพันธุ์ปละปริมาณสัตว์น้ำที่จับ ได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ดี บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย แสดงความกังวลต่อมาตรการผ่อนผันกฎระเบียบการควบคุมดูแลการทำประมง โดยกล่าวว่า การผ่อนผันให้เรือประมงพาณิชย์สามารถทำการประมงได้ไม่จำกัดจำนวนวัน และสามารถถ่ายโอนเรือข้ามไปมาระหว่างฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันได้ จะนำไปสู่การจับปลาอย่างล้างผลาญ ทำให้ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในทะเล
“การออกมาตรการเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่ากรมประมงกำลังให้ท้ายอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ จนละเลยที่จะดูแลสร้างความยั่งยืนให้กับชาวประมงพื้นบ้าน เพราะการออกมาตรการผ่อนผันเช่นนี้จะทำให้กลุ่มประมงพาณิชย์ตักตวงทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลให้หมดไปอย่างรวดเร็ว และทำให้การทำประมงพื้นบ้านตลอดแนวชายฝั่ง 22 จังหวัดของไทยต้องพังพินาศในที่สุด” บรรจง กล่าว
เขายังได้เรียกร้องให้ อธิบดีกรมประมง เร่งออกกฎยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงแบบล้างผลาญ ได้แก่ อวนรุน และเรือปั่นไฟ ที่ทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะจนถึงขณะนี้ทางกรมประมงยังไม่มีการออกมาตรการใดๆในการควบคุมการใช้เครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าว

ที่มา:GreenNews

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad