เปิดงานวิจัย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของประเทศไทยปี 2562 จาก Google - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เปิดงานวิจัย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของประเทศไทยปี 2562 จาก Google

เปิดงานวิจัย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของประเทศไทยปี 2562 จาก Google


งานวิจัยจาก Google, Temasek และ Bain & Company เผย เศรษฐกิจดิจิทัล ของไทยมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ใหญ่อันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตเฉลี่ย 29% 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเสพข่าวสาร, การเรียกรถ, การสั่งอาหาร, การซื้อของออนไลน์ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ เศรษฐกิจดิจิทัล หรือมูลค่าเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตขึ้นทั่วโลก
ที่น่าสนใจคือ แม้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยจะยังไม่ได้มีมูลค่ามหาศาลเหมือนฝั่งสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดย Google และ Temasek ซึ่งทำการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผลการวิจัยครั้งแรกในปี 2559 ในปีนี้ได้นำเสนอผลการวิจัยอีกครั้ง โดยมี Bain & Company เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะพันธมิตรวิจัยหลักด้วย

คนไทยใช้เน็ตผ่านมือถือมากสุดในโลก

เอพริล ศรีวิกรม์ รักษาการผู้จัดการส่วนภูมิภาค Google ประเทศไทย เผยถึงงานวิจัยครั้งนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 360 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 260 ล้านคน ซึ่ง 90% ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ และเป็นภูมิภาคที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดในโลก
ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมากกว่า 47 ล้านคนในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 38 ล้านคน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยจำนวนเวลาที่ใช้งานอยู่ที่ 5.13 ชั่วโมง/วัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 3.13 ชั่วโมง/วันเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่น่าสังเกตคือ 4 อันดับแรกของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากที่สุดในโลกอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ

อี-คอมเมิร์ซ – บริการเรียกรถ ปัจจัยหนุน “เศรษฐกิจดิจิทัล”

งานวิจัยยังระบุอีกว่า ครึ่งหนึ่งของประชากร 360 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ จากปี 2558 ที่อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านเหรียญ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านเหรียญในปี 2568 (ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568)
การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนผู้ใช้บริการใน 4 เซกเตอร์ที่งานวิจัยโฟกัส (อี-คอมเมิร์ซ, สื่อออนไลน์, บริการเรียกรถออนไลน์ และท่องเที่ยวออนไลน์) เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่จำนวนการใช้บริการยังเติบโตแบบก้าวกระโดด
ตัวอย่างคือ จำนวนแอคทีฟยูสเซอร์ของบริการอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ที่เพิ่มขึ้นจาก 49 ล้านรายในปี 2558 เป็น 150 ล้านรายในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ขณะที่แอคทีฟยูสเซอร์ของบริการเรียกรถเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านรายในปีนี้ จากปี 2558 ที่อยู่ที่ 8 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า
“สองเซกเตอร์นี้เป็นเซกเตอร์สำคัญที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ จึงมีการปรับประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้น ทั้งนี้ หลังจากยูสเซอร์เริ่มรู้จักการใช้งานอี-คอมเมิร์ซและบริการเรียกรถแล้ว เรียกได้ว่าทั้งสองบริการกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะคนเมืองที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้” เอพริล กล่าว
เอพริล ศรีวิกรณ์ รักษาการผู้จัดการส่วนภูมิภาค Google ประเทศไทย
เอพริล กล่าวอีกว่า การเติบโตของบริการเรียกรถนั้นเห็นในเมืองที่มีปัญหาเรื่องการจราจร มลพิษ ราคารถยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากบริการรับ-ส่งอาหารที่คนใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นเดียวกับบริการอี-คอมเมิร์ซ ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการซื้อของชิ้นใหญ่มาเป็นซื้อของในชีวิตประจำวัน รวมถึงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่ทำให้สามารถส่งของได้ภายใน 2 วันหรือในวันที่สั่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้อี-คอมเมิร์ซเติบโต
งานวิจัยยังพบอีกว่า ในเมืองใหญ่ 7 เมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนการใช้จ่ายสูงถึง 52% ของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่เริ่มต้นขึ้นในเมืองใหญ่ก่อน
โดยคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการจับจ่ายใช้สอยผ่านอี-คอมเมิร์ซมากกว่าคนนอกเมืองใหญ่ถึง 4 เท่า และในระดับภูมิภาค คนในเมืองใหญ่ใช้จ่ายมากกว่าคนนอกพื้นที่เมืองใหญ่ถึง 6 เท่า อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลนอกเมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้จะเติบโตได้รวดเร็วกว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเมืองถึง 2 เท่าภายในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจาก engagement ที่เพิ่มขึ้นของคนกลุ่มนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดงานและโอกาสใหม่ๆ ตลอดจนความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมที่สูงขึ้น
ข้อมูลจากงานวิจัยระบุอีกว่า ปัจจุบันยอดมูลค่าสินค้ารวม หรือ GMV ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้คิดเป็น 3.7% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาที่ในปี 2559 อยู่ที่ 6.5% แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตอีกมหาศาล
โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบของเศรษฐกิจดิจิทัลมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (ระหว่างปี 2558-2562) อยู่ที่ 29% ปัจจุบันมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค และคาดว่าจะเติบโตทะลุ 5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568

เจาะลึกการเติบโต 4 เซกเตอร์หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

อี-คอมเมิร์ซถือเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาครวมถึงไทย โดยในประเทศไทยมีการเติบโตเฉลี่ย 54% ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจะมีมูลค่าแตะ 5 พันล้านเหรียญในปีนี้ และ 1.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568 โดยการเติบโตนี้เป็นผลมาจากการจัดช้อปปิ้งเฟสติวัลบ่อยครั้ง ซึ่งพบว่ายอดค้นหาเกี่ยวกับคูปองส่วนลดและ voucher ใน Google เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2019
นอกจากนี้แอพพลิเคชั่นอี-คอมเมิร์ซยังเพิ่มกลยุทธ์เอนเตอร์เทนเมนต์บนแอพฯ ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สตรีมมิ่งจากบล็อกเกอร์และผู้ขาย ทำให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ขายได้ ขณะที่ผู้ขายเองยังมีการพัฒนามากขึ้นทั้งในเรื่องคุณภาพสินค้า การให้ข้อมูล และบริการ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทอี-คอมเมิร์ซก็ทำงานร่วมกับผู้ขายมากขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากแรงกดดันที่บริษัทต้องการเพิ่มรายได้ของธุรกิจตนเอง
อีกภาคธุรกิจที่มีการเติบโตน่าสนใจคือบริการเรียกรถออนไลน์ (Ride Hailing) โดยในไทยมีมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 36% ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการขยายบริการไปสู่บริการเดลิเวรี่และบริการทางการเงิน โดยเฉพาะบริการเดลิเวรี่ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยพบว่ายอดค้นหาใน Google เกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า
แรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของบริการรับ-ส่งอาหารมาจากกลยุทธ์ Loyalty & Rewards ของผู้ให้บริการ ที่ทำให้ยูสเซอร์ที่ไม่เคยใช้ก็หันมาใช้ และยูสเซอร์ที่ใช้บริการอยู่แล้วก็ใช้บ่อยขึ้น
ขณะที่สื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการติดตามเพลงและวิดีโอ) ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 39% คาดว่ามีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญในปีนี้ และทะลุ 7 พันล้านเหรียญในปี 2568 ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มวิดีโอที่สูงมาก รวมถึงการมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ท้องถิ่น ซึ่งไทยมีผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีทักษะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเซกเตอร์นี้ได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายคือการท่องเที่ยวออนไลน์ (ธุรกิจจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน) ยังคงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและอิ่มตัวมากที่สุดในไทย โดยมูลค่าตลาด (Gross Booking Value) ในปี 2562 อยู่ที่ 7.2 พันล้านเหรียญ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17% โดยการค้นหาเกี่ยวกับโรงแรมราคาประหยัด (budget hotel) ใน Google เติบโตขึ้นถึง 9 เท่าจากปีก่อน รวมถึงการค้นหาการเช่าที่พัก (แนว Airbnb) เติบโตมากขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งหากมาตรการที่ควบคุมในบางพื้นที่ผ่อนคลายมากกว่านี้ ก็จะช่วยให้การเติบโตเพิ่มขึ้นไปอีก

ยิ่งอยู่บนแอพฯ นาน โอกาสขายได้ก็มาก

งานวิจัยเผยว่า บริษัทใหญ่ๆ ต่างพยายามให้ผู้ใช้ใช้เวลาอยู่บนแอพฯ นานขึ้น เพราะเชื่อว่ายิ่งใช้เวลาบนแอพฯ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสขายได้มากขึ้น โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต่างไปจากภูมิภาคอื่น ทำให้บริษัทต่างๆ พยายามออกแบบแพลตฟอร์มให้ยูสเซอร์อยู่บนแพลตฟอร์มของตนให้นานที่สุด ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น ผู้ให้บริการมักพยายามออกแบบแพลตฟอร์มใช้งานง่าย อยู่ในแอพฯ น้อย แต่ใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว
เหตุดังกล่าวทำให้ทุกธุรกิจได้ขยายบริการของตนไปยังธุรกิจใกล้เคียงมากขึ้น เช่น จากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ก็ขยายไปสู่ธุรกิจสตรีมมิ่ง, เกม, ข่าวสาร, โฆษณา, ท่องเที่ยว และการเงิน เป็นต้น ซึ่งผลดีต่อผู้บริโภคคือทำให้เกิดการแข่งขัน ผู้เล่นต่างพยายามพัฒนาตัวเอง แพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้นด้วย

ความท้าทายต่อระบบนิเวศ

แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค การขนส่ง และการชำระเงินออนไลน์จะพัฒนาไปไกลและมีการเติบโตในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงน่ากังวลในภูมิภาคนี้คือเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพและความสามารถของคน
โดยเม็ดเงินลงทุนยังไหลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่สตาร์ทอัพไทยยังคงขาดเงินทุนในการจัดตั้งธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในระยะ Later-Stage ซึ่งเป็นหลังจากผ่านพ้นระยะเริ่มต้นไปแล้ว โดย 5 ปีที่ผ่านมามีการลงทุน 2.4 หมื่นล้านเหรียญในสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียง 11 บริษัทเท่านั้น และมีการลงทุนเพียง 5 ล้านเหรียญ ในสตาร์ทอัพกว่า 70 รายที่กำลังพยายามก้าวไปสู่ระดับยูนิคอร์น
ความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อระบบนิเวศของเศรษฐกิจดิจิทัลคือความสามารถหรือ talent ของคนในภูมิภาค ซึ่งเริ่มเห็นหลายบริษัทก้าวเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มทักษะความสามารถด้านดิจิทัลของพนักงานระดับมืออาชีพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้คือผู้ก่อตั้งหลายรายที่เป็นคนในภูมิภาคนี้แต่ไปสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศอื่น ยังเล็งเห็นศักยภาพของภูมิภาคและกลับมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มา: Forbes Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad