กรมเจรจาฯ ปลื้ม เอฟทีเอช่วยดันไทยส่งออกผลไม้ขึ้นเบอร์ 6 โลก ชี้ตลาดอาเซียน-จีนโตแรง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมเจรจาฯ ปลื้ม เอฟทีเอช่วยดันไทยส่งออกผลไม้ขึ้นเบอร์ 6 โลก ชี้ตลาดอาเซียน-จีนโตแรง

กรมเจรจาฯ ปลื้ม เอฟทีเอช่วยดันไทยส่งออกผลไม้ขึ้นเบอร์ 6 โลก ชี้ตลาดอาเซียน-จีนโตแรง

img


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลไม้ไทยยังคงเนื้อหอม ส่งออก 10 เดือนพุ่ง 3,213 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 41% ขยับขึ้นเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 6 ของโลก ย้ำเอฟทีเอมีส่วนช่วยเปิดตลาด หลังคู่ค้าลดและเลิกเก็บภาษี เฉพาะตลาดจีน-อาเซียน ครองสัดส่วนส่งออกสูงถึง 84% ทุเรียน มังคุด ลำไย ได้รับความนิยมสูง แนะเกษตรกรรักษาคุณภาพมาตรฐาน สร้างเอกลักษณ์ สร้างแบรนด์ เพื่อครองใจผู้บริโภค
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ติดตามผลการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังตลาดโลก พบว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และส่งผลให้การส่งออกสินค้าในภาพรวมของทั่วโลกหดตัว แต่สินค้าผลไม้ของไทย ยังคงครองความนิยม มียอดการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และผลไม้ไทยยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ช่วยลดและยกเลิกภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ผลไม้ไทยได้แต้มต่อและมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น

“จากการติดตามตัวเลขส่งออก ในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยขยับอันดับจากประเทศผู้ส่งออกผลไม้จากอันดับที่ 10 ของโลกในปี 2561 เป็นผู้ส่งออกผลไม้อันดับที่ 6 ของโลก รองจากสเปน เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก สหรัฐฯ และชิลี มีมูลค่าการส่งออกผลไม้สู่ตลาดโลกสูงถึง 3,213 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41% มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน และจีน รวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปอาเซียนและจีนมีมูลค่าสูงถึง 2,690 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 84% ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก โดยผลไม้ไทยเนื้อหอม คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งไทยครองความเป็นผู้นำการส่งออกอันดับหนึ่งของโลกด้วย”นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันคู่เจรจาเอฟทีเอของไทย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งของไทยทุกรายการแล้ว ส่วนคู่เอฟทีเอที่เหลือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย ต่างทยอยลดเลิกภาษีนำเข้าผลไม้ส่วนใหญ่แล้ว คงเหลือการเก็บภาษีเพียงบางรายการเท่านั้น
        
นางอรมนกล่าวว่า เพื่อให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภคได้ต่อไป เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ พัฒนาสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ของผลไม้เป็นของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค อันจะนำไปสู่การครอบครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้สินค้าผลไม้ไทยได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad