“จุรินทร์”เคาะโครงการประกันรายได้ข้าวโพดกิโลละ 8.50 บาท จ่ายส่วนต่างงวดแรก 20 ธ.ค.นี้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“จุรินทร์”เคาะโครงการประกันรายได้ข้าวโพดกิโลละ 8.50 บาท จ่ายส่วนต่างงวดแรก 20 ธ.ค.นี้

“จุรินทร์”เคาะโครงการประกันรายได้ข้าวโพดกิโลละ 8.50 บาท จ่ายส่วนต่างงวดแรก 20 ธ.ค.นี้

img
“จุรินทร์”ประชุม 3 ฝ่าย เคาะประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ความชื้น 14.5% ได้สิทธิไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เตรียมชง นบขพ. พิจารณา 4 ธ.ค. ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ 11 ธ.ค. พร้อมจ่ายส่วนต่างงวดแรก 20 ธ.ค.นี้ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.36 แสนครัวเรือน
        
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือ 3 ฝ่าย เพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า ที่ประชุมได้กำหนดราคาประกันรายได้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8.50 บาท ความชื้น 14.5% จำนวนไม่เกิน 30 ไร่ต่อครัวเรือน โดยจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ) ในวันที่ 4 ธ.ค.2562 และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการในวันที่ 11 ธ.ค.2562 จากนั้นจะจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรงวดแรกในวันที่ 20 ธ.ค.2562
        
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ดำเนินมาตรการเสริม เพื่อดูแลราคาข้าวโพดภายในประเทศ จำนวน 6 มาตรการ คือ 1.หากมีการนำเข้าช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. จะต้องนำเข้าตามเงื่อนไขอาเซียนที่กำหนดไว้ 2.พื้นที่จังหวัดจันทบุรี อุบลราชธานี เชียงราย น่าน เลย ตาก และสระแก้ว จะต้องแจ้งการเคลื่อนย้ายต่อกรมการค้าภายใน 3.กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าข้าวสาลีต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ต่อ 3 ต่อไป 4.การรับซื้อต้องใช้เครื่องชั่งที่ผ่านการรับรองจากกรมการค้าภายใน ที่มีความเที่ยงตรงเเม่นยำ 5.ในการเก็บสต็อก ต้องแจ้งต่อกรมการค้าภายในตามที่กำหนด 6.มาตรการช่วยเหลือเงินกู้สถาบันเกษตรกร เพื่อเก็บสต๊อกข้าวโพดในช่วงผลผลิตออกมากไม่ต่ำกว่า 2 เดือน มีวงเงิน 1,500 ล้านบาท และ 7.กำชับให้ทุกจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ และให้รายงาน นบขพ.
        
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีหลักเกณฑ์ในการคำนวณราคาประกันรายได้ คือ ต้นทุน บวกค่าขนส่ง บวกผลตอบแทน โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และได้ทุกครัวเรือนที่ปลูกข้าวโพดจริง

โดยปัจจุบัน สถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิต 4.73 ล้านตัน ลดลง 5.19% พื้นที่เพาะปลูก 6.88 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 0.19% เกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 0.709 ตัน (709 กิโลกรัม) มีจำนวนเกษตรกร 3.36 แสนครัวเรือน แหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา น่าน ตาก และเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad