กรมชลฯเข้มมาตรการจัดสรรน้ำทั่วปท. วอนปชช.ช่วยประหยัดยันให้พอใช้จนสิ้นแล้ง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯเข้มมาตรการจัดสรรน้ำทั่วปท. วอนปชช.ช่วยประหยัดยันให้พอใช้จนสิ้นแล้ง

กรมชลฯเข้มมาตรการจัดสรรน้ำทั่วปท. วอนปชช.ช่วยประหยัดยันให้พอใช้จนสิ้นแล้ง

กรมชลฯเข้มมาตรการจัดสรรน้ำทั่วปท. วอนปชช.ช่วยประหยัดยันให้พอใช้จนสิ้นแล้ง
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 พื้นที่ประเทศไทยตอนบน จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ มีปริมาณน้ำลดน้อยลงไปด้วย กรมชลประทานจำเป็นต้องวางมาตรการการบริหารจัดการน้ำทุกพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า โดยปัจจุบัน(13 ธ.ค.2562)เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน48,337 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 64ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 24,474 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,451 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 4,755 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26ของปริมาณน้ำใช้การได้
ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรมชลประทานจะจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เป็นไปตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชใช้น้ำน้อย ส่วนข้าวนาปรังเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่พอต่อการเพาะปลูกจึงไม่สามารถสนับสนุนได้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากเกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้ง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2562 - 30 เม.ย.2563 รวมกันประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 500 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.ขณะนี้นำไปใช้แล้วประมาณ 1,072 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ยังคงการระบายน้ำในอัตรา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค. 2562) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 1.46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผักอีก 0.07 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืช เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่พอสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้เพาะปลูกพืชนอกแผนฯรวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองเพาะปลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad