แนะรับมือไรแดงแอฟริกันในส้มเขียวหวาน
สภาพอากาศแห้งแล้ง ในช่วงเช้าจะมีอากาศเย็นถึงหนาว และกลางวันมีอากาศร้อน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนส้มเขียวหวานให้เฝ้าระวังไรแดงแอฟริกันในระยะติดผล จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง อยู่ที่บริเวณหน้าใบหรือด้านบนใบ กรณีที่มีการระบาดรุนแรง อาจพบการทำลายของไรที่บริเวณหลังใบ และที่ผลส้มเขียวหวาน ทำให้ใบและผลมีสีเขียวจางลงเพราะสูญเสียคลอโรฟิลล์ หากมีการระบาดรุนแรง อาจทำให้ใบและผลร่วงในที่สุด
แนวทางในการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของไรแดงแอฟริกัน เกษตรกรควรหมั่นสำรวจใบส้มทุกสัปดาห์ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม – พฤษภาคม และในช่วงฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม หากพบไรแดงแอฟริกันเริ่มลงทำลายส้มเขียวหวาน ให้เกษตรกรทำการป้องกันกำจัดด้วยการให้น้ำติดต่อกันหลายๆ ครั้ง
กรณีระบาดรุนแรง เกษตรกรจะสังเกตเห็นใบส้มเริ่มมีสีเขียวจางลง เมื่อใช้แว่นขยายส่องดูบนใบ จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดทำลายอยู่ทั่วไป จากนั้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าไรชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฮกซีไทอะซอกซ์ 2% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโบรโมโพรไพเลต 25% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารฆ่าไรเหล่านี้ค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวห้ำ ตัวเบียน และผึ้ง หลีกเลี่ยง การพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิดกัน เพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร หากพบว่ายังมีไรแดงแอฟริกันระบาดให้พ่นสารฆ่าไรอีกครั้งหนึ่ง โดยเว้นระยะห่าง 5 วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น