ปลุกคนไทยต้านสารเคมี ‘ธรรมศาสตร์’ จัดกิจกรรม ‘เกี่ยวข้าว’ บนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปลุกคนไทยต้านสารเคมี ‘ธรรมศาสตร์’ จัดกิจกรรม ‘เกี่ยวข้าว’ บนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้า

ปลุกคนไทยต้านสารเคมี ‘ธรรมศาสตร์’ จัดกิจกรรม ‘เกี่ยวข้าว’ บนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้า


ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เกี่ยวข้าวในแปลงสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้า
“อาจารย์ปริญญา” ปลุกคนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เลิกนำสารพิษเข้าร่างกาย ชักชวนชาวธรรมศาสตร์กว่า 100 ชีวิต ลงแขกเกี่ยวข้าวบนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย นับหนึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า รวมกว่า 100 ชีวิต ร่วมกันเกี่ยวข้าวสายพันธุ์ข้าวหอมธรรมศาสตร์ ภายใต้กิจกรรม “มาเกี่ยวข้าวกัน” บนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ อาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เกี่ยวข้าวในแปลงสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้า
ผศ.ดร.ปริญญา เปิดเผยว่า วิถีการเกษตรดั่งเดิมของประเทศไทยนับว่าเป็นต้นทุนที่ดีมาก แต่ปัจจุบันกลับพบการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูง ซึ่งนอกจากสร้างผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ฉะนั้นเกษตรกรในประเทศไทยจึงเข้าข่ายยิ่งทำยิ่งจน
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา มธ.จึงอยากชักชวนให้ประชาชนเริ่มต้นด้วยการเลิกนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ไม่บริโภคผัก-ผลไม้ที่มีสารเคมี ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเกษตรกรรมที่ปลอดจากสารก่อมะเร็งในอนาคต
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า หลังคาของอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ได้รับการออกแบบด้วยแนวคิด “หลังคาสีเขียว” ซึ่งเป็นการใช้ร่มไม้ปกคลุม ขณะเดียวกันก็มีการปลูกพืชออร์แกนนิกสำหรับรับประทาน อาทิ ข้าว กระเจี๊ยบ ตะไคร้ กระเพรา ฯลฯ หมุนเวียนกันไป โดยผักจะถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบของศูนย์อาหารออร์แกนนิก 100% ส่วนข้าวจะถูกนำไปหุงให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 รับประทาน
เกี่ยวข้าว
หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม “มาเกี่ยวข้าวกัน” กำลังเกี่ยวข้าว
“หลังคาของอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี นับว่าเป็นสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๑ ของภูมิภาคเอเชีย และถือเป็นอันดับ ๒ ของโลก รองจากมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการปลูกข้าวบนสถานที่แห่งนี้ นับเป็นกุศโลบายที่จะทำให้คนสนใจและหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจัง” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ด้านนายเอกชัย ราชแสง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ มธ. กล่าวว่า ข้าวที่ปลูกบนหลังคาอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มีชื่อว่า “ข้าวหอมธรรมศาสตร์” ซึ่งภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนาสายพันธุ์มาจากข้าวหอมมะลิ 105 แต่จะมีจุดเด่นกว่าตรงที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 90 วันเท่านั้น โดยข้าวสายพันธุ์นี้เหมาะสมกับการปลูกแบบปลอดสารเคมีโดยเฉพาะ
“ขั้นตอนหลังจากนี้ เราก็จะนวดข้าวให้เหลือเฉพาะเมล็ด แล้วตากแห้งประมาณ 28 วัน จากนั้นก็จะนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อสำหรับหุงต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษาต่อไป” นายเอกชัย กล่าว

ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad