ส่งออกก.พ.63 เจอพิษโควิด-19 ฉุด ติดลบ 4.47% คาดทั้งปี ยังมีโอกาสลุ้นกลับมาเป็นบวก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

ส่งออกก.พ.63 เจอพิษโควิด-19 ฉุด ติดลบ 4.47% คาดทั้งปี ยังมีโอกาสลุ้นกลับมาเป็นบวก

img

ส่งออกไทยเดือนก.พ.63 มีมูลค่า 20,641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.47% เหตุได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว และยังได้รับผลกระทบจากน้ำมันลด ทำให้สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมันลดตาม คาดแนวโน้มยังชะลอตัวต่อ หลังโควิด-19 ยังระบาด มีการปิดเมือง ขนส่งกระทบ แต่มั่นใจอาหาร เครื่องนุ่งห่ม มีโอกาสส่งออกพุ่ง แถมมีข่าวดี บาทอ่อนค่า และหลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดหากส่งออกจากนี้ทำได้เดือนละกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีมีโอกาสบวก

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.พ.2563 มีมูลค่า 20,641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.47% และการนำเข้ามีมูลค่า 16,744.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.30% ส่งผลให้เกินดุลการค้ามูลค่า 3,897.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดรวม 2 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 40,267.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.81% การนำเข้ามีมูลค่า 37,925.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.32% ได้ดุลการค้า มูลค่า 2,341.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนก.พ.2563 ลดลง มาจากราคาน้ำมันที่ลดลง และฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในปีก่อน รวมทั้งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะงักลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของหลายประเทศ รวมทั้งไทย ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 3% และสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 5.2%

โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ส่งออกลดลง เช่น ข้าว ลด 26.6% ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ลด 16.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 11.1% น้ำตาลทราย ลด 3.8% แต่ยางพารา เพิ่ม 6.2% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 12.6% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 19.9% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 4.7% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น อาวุธ กระสุน รวมทั้งส่วนประกอบ ลด 100% อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ลด 31.5% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 10.7% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 4.7% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลด 10.6% แต่ทองคำ เพิ่ม 178.4% เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เพิ่ม 60.8% เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่ม 6.5% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 11.9% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 28.9%

ด้านตลาดส่งออก ตลาดหลักลดลง 21.5% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ ลด 37% เพราะฐานการส่งออกอาวุธปีก่อนสูง แต่ถ้าหักอาวุธออก การส่งออกเพิ่มขึ้น 18.3% สหภาพยุโรป เพิ่ม 1.7% ญี่ปุ่น ลด 11.1% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 2.8% เช่น อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 6.3% CLMV เพิ่ม 5.8% จีน ลด 2% เอเชียใต้ ลด 0.1% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 2.8% เช่น ลาตินอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS และทวีปแอฟริกา ลดลง 2.8% , 6.2% , 14.2% และ 18.1% ตามลำดับ แต่ตลาดตะวันออกกลาง เพิ่ม 16.4%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แม้การส่งออกภาพรวมจะลดลง แต่มีสินค้าหลายๆ ตัวของไทยที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น จากการมีจุดแข็งด้านความหลากหลายของสินค้าและการกระจายตัวของตลาด เช่น ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็งและกระป๋อง ผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์ข้าว นมและผลิตภัณฑ์นม เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย ที่ยังคงขยายตัวได้ดี รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่มีการเร่งรัดการส่งออกเมื่อช่วงปลายปี 2562 ได้ส่งผลดีในช่วงนี้ เช่น ข้าว ในตลาดตุรกี ยางพาราในจีน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในอินเดียและตุรกี ผลิตภัณฑ์ยางในอินเดีย

ส่วนแนวโน้มการส่งออก มองว่า แรงกดดันจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น และกลาง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการปิดเมือง ปิดพรมแดน จะส่งผลกระทบต่อการขนส่ง ซัปพลายเชน ซึ่งจะมีผลกดดันการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.2563 ที่น่าจะยังติดลบอยู่ แต่การส่งออกไทยยังมีจุดแข็ง ในการเป็นฐานการผลิตอาหาร และสินค้าจำเป็น เช่น เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในบ้าน การฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ค่าเงินบาทอ่อนค่า และหลายประเทศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน การคลัง จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ช่วยให้การค้าโลกยังทรงตัวต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกทั้งปี 2563 ประเมินว่าหากการส่งออกในช่วงที่เหลือ 10 เดือน สามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,598 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกไทยทั้งปีจะขยายตัว 0% แต่หากสามารถส่งออกได้เกิน 20,598 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกไทยทั้งปีจะเป็นบวก แต่หากน้อยกว่านั้น การส่งออกไทยทั้งปีจะติดลบ ซึ่งหากให้ประเมินขณะนี้ เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การส่งออกไทยไปจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากสามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกสินค้าไทยไปตลาดจีน เพื่อทดแทนการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการระบาดของโควิด-19

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad