สภาลมหายใจชี้กฎหมายและระบบราชการล้าหลัง ต้นเหตุปัญหาฝุ่นยืดเยื้อ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

สภาลมหายใจชี้กฎหมายและระบบราชการล้าหลัง ต้นเหตุปัญหาฝุ่นยืดเยื้อ

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้กฎหมายและระบบราชการไทยล้าหลังทำให้แก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือไม่จบสิ้น มุ่งหน้ารวบรวมรายชื่อส่งร่างพรบ.อากาศสะอาด ขณะที่ภาคเหนือเจอวิกฤตฝุ่นต่อเนื่องสองสัปดาห์
หลายจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนยังประสบวิกฤตหมอกควันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง วันนี้ (24 มีนาคม พ.ศ.2563) เวลา 8.00 น. สถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ณ ที่ทำการองค์กรบริหารส่วนตำบลเมืองคอง ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบปริมาณฝุ่นสูง 450 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของไทย 9 เท่า และมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 18 เท่า

ปริมาณฝุ่น PM2.5 สองสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 10 – 24 มีนาคม พ.ศ.2563 ณ สถานีตรวจวัดองค์กรบริหารส่วนตำบลเมืองคอง ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ // ขอบคุณภาพจาก: กรมควบคุมมลพิษ 

จุดความร้อนแสดงถึงการเผา พบจำนวนมากทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย โดยวันที่ 23 มี.ค พ.ศ.2563 ดาวเทียมระบบ VIIRUS พบจุดความร้อน 2,211 จุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,380 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 765 และพื้นที่เกษตร 5 จุด

ตำแหน่งจุดความร้อนในภาคเหนือ วันที่ วันที่ 23 มี.ค.2563 จุดสีน้ำเงินคือจุดความร้อนในประเทศไทย และจุดสีส้มคือจุดความร้อนในต่างประเทศ // ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) 

แม้ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจะทุ่มเทความสนใจให้กับรับมือโรคระบาดโควิด-19 งานวิจัยหลายชิ้นได้พิสูจน์ว่ามลภาวะทางอากาศเป็นตัวการทำลายปอด เป็นผลให้เสี่ยงติดไวรัสในทางเดินหายใจ เช่น โควิด-19 และเกิดอาการปอดบวม ซึ่งยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้นหากติดไวรัสดังกล่าว
“รัฐรับมือปัญหาฝุ่นเหมือนแก้ปัญหาก๊อกน้ำแตก ส่งคนไปไล่เช็ดน้ำมากกว่าจะมาแก้ก๊อกน้ำ คือคำตอบว่าทำไมปัญหาถึงวนลูป รัฐมองว่าเกิดไฟป่าและรัฐเข้ามาช่วย ราชการควรมีคณะทำงานรับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ บริหารทั้งประเทศ ถ้าไม่ได้ระดับประเทศก็ระดับภาค เพราะปัจจุบันมีหน่วยงานอื่นมารับหน้าที่แล้วทำเป็นแค่ช่วงเดือนบางช่วงที่เกิดไฟป่าเท่านั้น”
วิทยา ครองทรัพย์ ประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควัน กล่าวในงานระดมความคิดเห็นเชิงนโยบายเพื่อผลักดันพระราชบัญญัติอากาศสะอาด จัดโดยสภาลมหายใจเชียงใหม่  เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา เขาวิเคราะห์ว่าปัญหาฝุ่นภาคเหนือที่แก้ไม่ตกนับสิบปีเป็นผลจากความล้าหลังในการรับมือของหน่วยงานราชการ 
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ไพสิฐ พาณิชย์กุล หัวหน้าศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมองว่ากฎหมายไทยได้สถาปนาชุดความคิดการทำงานของหน่วยงานราชการ เป็นผลให้แก้ปัญหาโดยมองที่ปลายเหตุ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งไม่ได้ระบุถึงปัญหาฝุ่นควัน หากระบุเพียงถึงไฟป่าซึ่งไม่ครอบคลุมสาเหตุของปัญหาฝุ่นควันทั้งหมด อีกทั้งหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยจะสามารถเบิกงบประมาณ เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่มารับมือปัญหาฝุ่นได้ในเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นก่อน 
นอกจากนั้นเขายังเห็นว่าต้นตอของปัญหาฝุ่นภาคเหนืออีกอย่างคือโครงสร้างการทำไร่ข้าวโพดแบบพันธสัญญา (Contract Farm)
“ปัญหาที่เกิดในภาคเหนือคือเปลี่ยนการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติมาสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม ย้อนไปสิบกว่าปีตั้งแต่ปี 2545 ชาวบ้านทำสัญญาผลิตข้าวโพดให้บริษัทใหญ่รับซื้อ เช่น น่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตข้าวโพด เป็นการส่งสัญญาเชิงนโยบายทางการเกษตรว่าเป้าหมายตัวชี้วัดของจังหวัดน่านคือข้าวโพด หลังจากนั้นจึงลามไปที่จังหวัด”
อาจารย์กฎหมายมองว่าโครงสร้างกฎหมายป่าไม้และอุทยานทุกวันนี้นั้นสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าอุทยาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเผาในที่โล่งอันเป็นต้นเหตุของฝุ่นควันต่อไป
เขาตั้งข้อสังเกตว่าปีนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอ้อยเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยแล้ว เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีแผนจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อเปิดทางเลือกให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวอ้อยโดยไม่ต้องเผา ทว่าปัจจุบันยังไม่เห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องธุรกิจข้าวโพดที่หลบอยู่หลังฉากเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา
นอกจากนั้น การปลูกข้าวโพดแบบพันธสัญญาไม่ได้มีเพียงในไทย ทว่ายังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ในรัฐฉานของพม่า ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในภาคเหนือ ไพสิฐเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ เป็นผลให้รัฐหลีกเลี่ยงการดำเนินการ ทว่าเครือข่ายผู้บริโภคอาจใช้วิธีคว่ำบาตร (Social Sanction) บริษัทฯ โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้คน
ปัจจุบัน พระราชบัญญัติอากาศสะอาดอยู่ในขั้นตอนร่างรายชื่อ โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มสภาลมหายใจเชียงใหม่และผู้สนับสนุนกลุ่มอื่นๆ ได้รวบรวมรายชื่อส่งสภาแล้วครั้งหนึ่ง ทว่าได้รับแจ้งว่ามีปัญหาทางเอกสาร จึงต้องดำเนินการรวบรวมรายชื่ออีกครั้ง 
“การจะออกกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นอยู่กับรัฐสภาซึ่งใช้เวลานาน ตัวอย่างพระราชบัญญัติที่ผ่านมาคือใช้เวลา 8 ปีต่อฉบับ อาจจะมีอีกช่องทางหนึ่งที่ทำได้คือประกาศปัญหาฝุ่นให้เป็นพระราชกำหนดในกรณีฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับแรงกดดันทางสังคม”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad