วว.แนะปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง เก็บรับประทานได้ภายใน 10 วัน ระบุเป็นแหล่งอาหารอุดมด้วยโภชนาการ ปลอดสารเคมี เสริมรายได้ในครัวเรือน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

วว.แนะปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง เก็บรับประทานได้ภายใน 10 วัน ระบุเป็นแหล่งอาหารอุดมด้วยโภชนาการ ปลอดสารเคมี เสริมรายได้ในครัวเรือน


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ผ่านการดำเนินงานของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ แนะปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ซึ่งสามารถเก็บรับประทานได้ในครัวเรือนภายใน 10 วัน นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ วว. ได้นำผลสำเร็จของงานวิจัยและพัฒนาด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาสร้างทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชน ในช่วงการ “อยู่บ้าน  หยุดเชื้อ ช่วยชาติ” และร่วมมือในการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19    

“ผักบุ้ง”  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea  aquatic  Forssk  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ผักทอดยอด”  ในผักบุ้ง 100  กรัม จะให้พลังงาน  22  กิโลแคลอรี มีคุณค่าโภชนาการ ประกอบด้วย  เส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น โดยผักบุ้งไทยจะมีวิตามินซีสูงและมีสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียมและเบตาแคโรทีน (มีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา) น้อยกว่าผักบุ้งจีน หากรับประทานผักบุ้งสดๆ ที่ปลอดจากสารเคมี จะได้คุณค่าของวิตามินและแร่ธาตุสูง ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีคุณสมบัติไปช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งจะทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไป อาจจะก่อให้เกิดอาการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอได้    
สรรพคุณของผักบุ้งมีหลากหลาย  อาทิ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล  มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย ความแก่ชรา และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย  ช่วยป้องกันการเกิดหรือลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็งได้   ช่วยบำรุงสายตา  ช่วยบำรุงธาตุ  เป็นต้น    
ในตำราโบราณ   ต้นสดของผักบุ้งจะนำมาใช้เป็นยาดับร้อน  แก้อาการร้อนใน  บำรุงโลหิต บำรุงกระดูกและฟัน  ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในด้านความจำและการเรียนรู้ให้ดีขึ้น   ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาท  รากผักบุ้งช่วยแก้อาการเหงื่อออกมาก มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานช่วยแก้อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย  แก้อาการไอเรื้อรัง  แก้โรคหืด  เป็นต้น    
สำหรับการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ที่สามารถเก็บมารับประทานได้หรือนำไปจำหน่ายได้ภายใน 10 วัน    เริ่มต้นด้วยการเตรียมวัสดุอุปกรณ์   ได้แก่ 1.เมล็ดผักบุ้งหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หรือร้านค้าจำหน่ายวัสดุการเกษตร  2.ดินผสมพร้อมปลูก  3.กะบะ/กระถาง หรือตะกร้าปลูก ขนาดเหมาะสมกับพื้นที่   4.ผ้าขนหนู และ5.น้ำ
สำหรับวิธีการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง มีดังนี้
  1. แช่เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนในน้ำ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาผึ่งทิ้งไว้ 10 นาที
  2. โรยเมล็ดลงบนดินผสมไม่หนาแน่นจนเกินไปและโรยดินกลบ ความหนาเท่ากับเมล็ดหรือโรยเมล็ดหนา 1 ชั้นลงบนผ้าขนหนูที่วางบนตะกร้า แล้วนำผ้าปิดด้านบนเมล็ด
  3. ปิดคลุมเมล็กดที่เพาะให้มิด รดน้ำเป็นละอองฝอยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 8-9 วัน โดยระวังไม่ให้ดินแฉะหรือแห้งจนเกินไป
  4. เมื่ออายุครบ 5 วัน ให้เปิดวัสดุที่ปิดคลุมออก จะเห็นต้นอ่อนมีสีเหลือง
  5. เมื่ออายุครบ 6 วัน ให้นำออกมารับแสง เพื่อสร้างคลอโรฟิลล์ สร้างใบ และยอดอ่อนสีเขียว
  6. อายุ 9-10 วัน สามารถเก็บต้นอ่อนผักบุ้งไปบริโภคหรือจำหน่ายได้
การปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ตามวิธีการที่ วว. นำมาแนะนำดังกล่าว สามารถปรับลดขนาดได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่ท่านมี  ซึ่งจะทำให้ได้ผักสำหรับรับประทานที่ปลอดจากสารเคมี  มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยประหยัดรายจ่าย และช่วยเพิ่มรายได้ในครัวเรือนสำหรับท่านที่สนใจนำไปประกอบอาชีพต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับคำแนะนำปรึกษาได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  วว. โทร.  0 2577 9000  โทรสาร 0 2577  9009  ในวันและเวลาราชการ   E-mail : tistr@tistr.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad