เอกชนเผยส่งออกข้าวไตรมาสแรกปี 2563 ลดทั้งปริมาณและมูลค่า สาเหตุภัยแล้ง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น ห่างจากประเทศคู่แข่งประมาณ 90-180 เหรียญสหรัฐฯ
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณ 1,467,754 ตัน มูลค่า 28,496 ล้านบาท หรือ 938 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณส่งออกลดลง 39.1% และมูลค่าลดลง 28.0% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 2,409,191 ตัน มูลค่า 39,608 ล้านบาท หรือ1,251 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนมี.ค. 2563 มีปริมาณ 520,449 ตัน มูลค่า 10,961 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 30.1% และ 33.4% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. 2562
ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.เนื่องจากประเทศในแถบแอฟริกามีการนำเข้าข้าวขาวมากขึ้น ขณะที่ตลาดอเมริกานำเข้าข้าวหอมมะลิมากขึ้น โดยในเดือน มี.ค.มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณ 230,686 ตัน เพิ่มขึ้น 47.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแองโกล่า โมซัมบิก แคเมอรูน จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 132,444 ตัน เพิ่มขึ้น 29.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากตลาดหลักในแถบอเมริกา เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เร่งนำเข้าข้าวเนื่องจากผู้บริโภคมีการซื้อข้าวเพื่อกักตุนในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ขณะที่ ตลาดสำคัญในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในส่วนของข้าวนึ่งมีการส่งออกเพียง 81,079 ตัน ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปตลาดในแถบแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน โตโก เป็นต้น ขณะที่การส่งไปยังตลาดหลัก เช่น เบนิน และไนจีเรีย มีปริมาณเพียงเล็กน้อย
สำหรับ ในเดือน เม.ย.2563 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 550,000-600,000 ตัน เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามใช้มาตรการจำกัดการส่งออกข้าวช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ ซึ่งในขณะนี้ได้กลับมาส่งออกตามปกติแล้ว ขณะที่อินเดียและปากีสถานใช้มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) และจำกัดการเดินทางติดต่อกัน ทำให้การส่งออกชะลอตัวลง เนื่องจากอุปสรรคด้านลอจิสติกส์ จึงทำให้ผู้ซื้อข้าวบางส่วนหันมาซื้อข้าวจากไทยและเร่งการส่งมอบเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศคู่แข่งจะประสบปัญหาด้านการส่งออกในช่วงนี้ แต่การส่งออกข้าวของไทยอาจจะไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากอุปทานข้าวของไทยมีปริมาณจำกัด เพราะผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตข้าวลดลง โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ประกอบกับตลาดภายในประเทศก็มีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นและห่างจากประเทศคู่แข่งประมาณ 90-180 เหรียญสหรัฐฯ
โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา สมาคมฯ ประกาศราคาข้าวขาว 5% ที่ 556 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามราคาอยู่ที่ 463-467 เหรียญสหรัฐ/ตัน อินเดีย 368-372 เหรียญสหรัฐ/ตัน และปากีสถานที่ 453-457 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น