ดีอีเอส เสนอ ครม. ออกพระราชกฤษฎีกา เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บางหมวดออกไปอีก 1 ปี - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ดีอีเอส เสนอ ครม. ออกพระราชกฤษฎีกา เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บางหมวดออกไปอีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงความจำเป็นในการออกร่างพระราชกฤษฎีกา ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ในหมวด 2 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 3 สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 5 การร้องเรียน หมวด 6 ความรับผิดทางแพ่ง หมวด 7 บทกำหนดโทษ และความในมาตรา 95 และมาตรา 96 ที่เดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน  
เนื่องจากหากมีการบังคับใช้ตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ทุกภาคส่วนยังไม่พร้อม อาจทำให้เกิดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ทุจริตแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ มากไปกว่านั้น ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคเอกชนไม่ว่าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เกิดปัญหาสภาพคล่องในการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนงาน ระบบสารสนเทศ และการจัดหาหรือจัดอบรมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย การเลื่อนบังคับใช้กฎหมายจึงเอื้อต่อภาคเอกชนให้มีเวลาได้เตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงดีอีเอสจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวาระต่อไป
รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางกระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอรายชื่อบุคคลต่อคณะรัฐมนตรี และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เช่น 1) การบริหารจัดการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 3) การส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ 4) สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 5) หน้าที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล 6) การร้องเรียนและโทษปรับทางปกครอง 
ที่มา THE STANDARD

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad