เมินกระแสค้านเขื่อนโขง บริษัทจีนเดินหน้าเขื่อนสานะคาม ห่างชายแดนไทยแค่ 2 กิโลเมตร - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เมินกระแสค้านเขื่อนโขง บริษัทจีนเดินหน้าเขื่อนสานะคาม ห่างชายแดนไทยแค่ 2 กิโลเมตร

เขื่อนสานะคาม
ภาพมุมสูงแม่น้ำโขง บริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ในเมืองสานะคาม ประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทย 2 กิโลเมตร //ขอบคุณภาพจาก: Mekong River Commission
ลาวประกาศเปิดตัวโครงการเขื่อนสานะคาม เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งที่ 6 ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ จ.เลย เพียง 2 กิโลเมตร ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างปีนี้เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย ด้านนักวิชาการวิพากษ์ เขื่อนสานะคามไร้ความจำเป็น ซ้ำเติมวิกฤตแม่น้ำโขง แถมยังทำค่าไฟคนไทยแพงขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลลุ่มน้ำโขงขาดสำนึกทางสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2563 สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) รายงานว่า รัฐบาลลาวได้ส่งเอกสารทางวิศวรกรรมและความเป็นไปได้ทางเทคนิค การประเมินผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการศึกษาเรื่องตะกอนและการประมง สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม ถือเป็นการเริ่มต้นการดำเนินการโครงการอย่างเป็นทางการ
เอกสารโครงการระบุว่า โครงการเขื่อนสานะคาม จะมีรูปแบบเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ตัวสันเขื่อนมีความสูงประมาณ 58 เมตร ยาว 350 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 684 เมกกะวัตต์ โดยมี บริษัท Datang (Lao) Sanakham Hydropower จำกัด จากประเทศจีน เป็นผู้พัฒนาโครงการด้วยงบประมาณ 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เขื่อนสานะคามตั้งอยู่ในเขตเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ จ.เลย ไปทางต้นน้ำราว 2 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และจะแล้วเสร็จสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี พ.ศ.2571 โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่จะผลิตส่งมาขายยังประเทศไทย
ดร. An Pich Hatda ประธานกรรมการบริหาร MRC กล่าวว่า การที่รัฐบาลลาวได้ส่งข้อมูลโครงการภายใต้กระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) จะช่วยให้ประเทศสมาชิกที่ได้รับแจ้ง และสาธารณชนรับรู้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ผลศึกษาการใช้น้ำของโครงการ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้
ทั้งนี้สมาชิกประเทศ MRC จะพิจารณาโครงการตามกระบวนการ PNPCA เพื่อทบทวนแง่มุมทางด้านเทคนิคของโครงการ และแนะนำมาตรการปรับปรุงโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการที่นำเสนอ
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความเห็นต่อเขื่อนบนแม่น้ำโขงแห่งใหม่นี้ว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาสำคัญถึง 3 ประเด็น กล่าวคือ เขื่อนดังกล่าวนอกจากไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการสร้าง เพราะประเทศไทยมีพลังไฟฟ้าสำรองล้นเกินอยู่แล้ว เขื่อนแห่งนี้ยังจะซ้ำเติมวิกฤตสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนอย่างร้ายแรง
“เขื่อนแห่งนี้ไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง เพราะจะเอาไฟฟ้าขายไทย แต่ประเทศไทยมีพลังงานสำรองมากเกินไปแล้ว  ยิ่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ความต้องการไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมน้อยลง ยิ่งไม่จำเป็น และหากมีการก่อสร้างและไทยซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ คนไทยจะยิ่งใช้ไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้นเพราะผู้บริโภคจะต้องแบกรับภาระค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
“อยากจะถามความรับผิดชอบของรัฐบาลจีนและทุนจีนในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จีนอ้างมาตลอดว่าจีน-ไทย พี่น้องกันหรือครอบครัวเดียวกัน แต่จีนนอกจากทำลายแม่น้ำโขงในจีนแล้ว ยังปล่อยให้ทุนจีนข้ามแดนมาทำธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง ถ้าจีนถือว่าจีน-ไทย พี่น้องกัน หรือครอบครัวเดียวกัน ก็อย่าปล่อยให้ทุนมากระทำย่ำยีกับแม่น้ำโขง”
เขื่อนสานะคาม
ภาพจำลองโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม โดยบริษัท Datang (Lao) Sanakham Hydropower จำกัด //ขอบคุณภาพจาก: Mekong River Commission
เขาชี้ว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนจากวิกฤตน้ำโขงแล้ง แม่น้ำเปลี่ยนสี การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำผิดฤดูกาล ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา หากแต่กลับยังให้กลุ่มทุนข้ามพรมแดนเดินหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงต่อไป แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงไม่มีสำนึกทางสิ่งแวดล้อม ไม่ยึดหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง 7 จังหวัดในภาคอีสาน และคนอีกหลายสิบล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งในลาว กัมพูชา และเวียดนาม
“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของโลก รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงควรรักษาไว้ ไม่ใช่ทำลาย ยิ่งวิกฤตโควิดเราจะเห็นได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่สุด เพราะประชาชนได้พึ่งพา แต่รัฐบาลในลุ่มน้ำโขงไม่เคยตระหนักถึงประเด็นนี้ กลับจะเอื้อประโยชน์แก่ทุนอย่างเดียว ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาดมหันต์” ดร.ไชยณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad