มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมฯ นำเสนอ 4 ระบบสำคัญที่ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการก่อนเปิดเมืองรับการขยายตัวเศรษฐกิจและช่วยควบคุมความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมฯ นำเสนอ 4 ระบบสำคัญที่ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการก่อนเปิดเมืองรับการขยายตัวเศรษฐกิจและช่วยควบคุมความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19


มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ได้จัดทำ “ข้อเสนอ” ระบบสำคัญที่ควรต้องมีก่อนเริ่มมาตรการเปิดเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม บุคลากรทางการแพทย์ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อนำเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่างๆ
หลังหนึ่งเดือนของมาตรการควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 (มาตรการล็อคดาวน์) แม้ในหลายพื้นที่ปัญหาจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และสถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง อีกด้านแรงกดดันเรียกร้องให้ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการการควบคุมไวรัสกำลังเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปมากกว่านี้และให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งจากที่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนและยาในการรักษา ประกอบกับประชาชนในประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ที่มากพอ การเปิดให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ใหม่จะยังไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่การแพร่เชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระลอก คล้ายกับกรณีสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่ทางการต้องขยายเวลาการล็อคดาวน์อีกครั้ง
โดยในรายงานได้ศึกษาถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นเหมือนวัฏจักรของการเปิดใหม่และการปิดล๊อคดาวน์ธุรกิจเป็นรอบ ๆ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะลากยาวเหมือนตัว W ที่มีความผันผวนจนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนหรือวิธีรักษาที่ชัดเจน ดังนั้นความท้าทายของการเปิดให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ใหม่คือ ทำให้กระบวนการเปิดเมืองสามารถควบคุมได้ คือควบคุมความเสี่ยงของการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถทำได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการเปิดเมือง สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและนำไปสู่การขยายตัว ทางเศรษฐกิจ จำเป็นที่ภารรัฐต้องให้ความสำคัญกับ 4 ระบบสำคัญ ดังนี้
1. ระบบการติดตามทดสอบและแยกผู้ติดเชื้อ
หลังจากเปิดเมืองเพื่อให้มีการทำธุรกิจได้ ระบบติดตาม ทดสอบและแยกผู้ติดเชื้อ (TTI ) จะต้องถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อมีข้อมูลที่จะสามารถค้นหาผู้ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ และหยุดหรือชะลอการแพร่เชื้อด้วยการกักตัวอย่างมีประสิทธิผล เพราะหากระบบทดสอบและแยกผู้ติดเชื้อไม่ดีพอ การเปิดเมืองให้ทำกิจกรรมได้ใหม่ก็จะไม่อาจประสบผลสำเร็จ
ดังนั้นประเทศไทยต้องลงทุนกับระบบติดตาม ทดสอบและแยกผู้ติดเชื้อ รวมถึงทำให้ชุดทดสอบมีจำนวนมากพอโดยอาจทำได้โดยการผลิตขึ้นในประเทศ พร้อมทั้งมีสถานที่สำหรับแยกผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ และต้องระดมกำลังจากภาคประชาชนและชุมชนให้ทำงานร่วมกับภาครัฐในการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ ตรวจหาการติดเชื้อและทำงานอย่างรวดเร็ว

2. ระบบการเตรียมความพร้อมระดับจังหวัด ควรเตรียมความพร้อมใน 3 ด้านดังนี้
     2.1 กำหนด "จังหวัดมีระดับการแพร่ระบาดต่ำ" พิจารณาจากเป็นจังหวัดที่ไม่มีประวัติผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่มีการติดเชื้อรายใหม่ หรือเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อของอย่างน้อย 14 วันติดต่อกัน และควรทำการทดสอบการติดเชื้อแบบสุ่มจนกว่าจะมีผลเป็นที่น่าพอใจ
     2.2 มีขีดความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพ (Health Capacity) จังหวัดที่เปิดเมืองควรมีระบบและวิธีการทำงานที่สามารถติดตามและจัดการกับกลุ่มเสี่ยงสูงได้ทันอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง และสามารถระบุเป้าหมาย ทดสอบ ติดตาม วิเคราะห์ และแยกแยะ รายละเอียดได้โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงแบบ real time และควบคุมความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคได้อย่างดี
     2.3 แนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Health and Social Distancing (HSD) Guidelines) ธุรกิจและหน่วยงานราชการต่างๆ ที่จะเปิดควรมีแนวปฏิบัติด้านการรักษาระยะห่างจากสังคม (HSD) ที่เหมาะกับธุรกิจหรือหน่วยงานของตนอย่างชัดเจนและได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ แนวปฏิบัติดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระยะห่างทางสังคม การส่งเสริมสุขลักษณะให้กับบุคคลและสาธารณะ การระบายอากาศ การกำจัดสารคัดหลั่ง การบังคับให้สวมถุงมือและหน้ากากอนามัย รวมทั้งการกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละประเภทในแต่ละคราว

3.ระบบตรวจสอบ (audit) และกำกับดูแลการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) ซึ่งควรมี 3 ระดับ
  3.1 ผู้ประกอบการ : ต้องสร้างความมั่นถึงแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการตรวจสอบรายการแบบรายวัน มีการเก็บบันทึก รวมถึงข้อมูล จากกล้องวงจรปิดและรายงานการไม่ปฏิบัติตามต่อหน่วยงานด้านสาธารณสุขโดยทันที
  3.2 ระดับบริษัท : ต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่าง ทางสังคม โดยผ่านกลไกตรวจสอบภายในของบริษัท
  3.3 ระดับประชาชน : สำหรับธุรกิจที่มีการติดต่อกับลูกค้า ควรเปิดให้ลูกค้าสามารถรายงานการไม่ปฏิบัติการรักษาระยะห่างทางสังคม ต่อผู้มีอำนาจรับผิดชอบได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรองความปลอดภัยสาธารณะ

4. ระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน (Active Citizen) ที่ผ่านมาประชาชนมีบทบาทสำคัญทำให้มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ตัวเลขการแพร่ระบาดในประเทศลดลงได้ต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงมีส่วนช่วยได้มากต่อมาตรการเปิดเมือง โดยทำได้ดังนี้
    4.1 ฐานะผู้บริโภค : ประชาชนสามารถช่วยสอดส่องดูแลการไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม และแจ้งการไม่ปฏิบัติดังกล่าวให้แก่หน่วยงาน ราชการที่รับผิดชอบทราบ
    4.2 การมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันด้านสาธารณสุขในการติดตามสถานการณ์ เช่น หาอาสาสมัครในการตรวจหาการติดเชื้อ เพื่อให้การตรวจหาเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็วและเหมาะสม
    4.3 ขอความร่วมมือประชาชนลดความเสี่ยงการระบาด เช่น อยู่บ้าน ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น สวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และปฏิบัติตามแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad