ดันเอสเอ็มอีก้าวสู่การค้านิวนอร์มัล สอวช. ดึงไอบีเอ็มแลกเปลี่ยนมุมมองพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยแลนด์เทรด” กระจายสินค้าสู่ต่างประเทศ ปลดล็อคขั้นตอนยุ่งยาก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ดันเอสเอ็มอีก้าวสู่การค้านิวนอร์มัล สอวช. ดึงไอบีเอ็มแลกเปลี่ยนมุมมองพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยแลนด์เทรด” กระจายสินค้าสู่ต่างประเทศ ปลดล็อคขั้นตอนยุ่งยาก


สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดเวทีหารือออนไลน์ Recovery Forum Special Talk ในหัวข้อ Thailand Trade Platform โดยได้รับเกียรติจาก บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด มาแลกเปลี่ยนถึงแนวคิดระบบ E-commerce platform ที่ใช้สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการก้าวสู่ตลาดออนไลน์อย่างเป็นระบบและเติบโตได้ในเวทีโลก

จากที่ สอวช. มีการจัดเวทีเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นประจำทุกสัปดาห์ ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า การหารือหัวข้อ Thailand Trade Platform ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความห่วงใยผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ควรมีบทบาทเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคส่วนดังกล่าว โดยได้เชิญบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าในหลายประเทศมาแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย โดย Thailand Trade Platform เป็นแพลตฟอร์มการค้าและบริการดิจิทัลที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการขายสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ทั้งการซื้อขายแบบธุรกิจกับลูกค้า ธุรกิจกับธุรกิจ และธุรกิจกับภาครัฐ โดยในแพลตฟอร์มจะมีการเชื่อมโยงระบบทั้งช่องทางการซื้อขาย การทำธุรกรรมแบบอิเล็กทรอนิกส์ การจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการบริการของภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว และยังเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบให้มีความปลอดภัยของข้อมูลทางการค้า โดยใช้ Private Blockchain เป็นเครื่องมือ นอกจากแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยในเรื่องการเพิ่มโอกาสในการซื้อขายแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนและขั้นตอนทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ และยังสามารถเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการก้าวสู่เวทีโลกได้
ในการหารือได้มีการแลกเปลี่ยนอีกว่า แม้จะมีการสร้างแพลตฟอร์มสำเร็จ แต่หากขาดผู้ใช้งานก็จะเป็นเสมือนตึกร้าง การมีนโยบายส่งเสริมหรือแรงจูงใจจากภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการเข้ามาใช้งาน โดยในประเทศจีนจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทที่มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจึงทำให้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ประชุมมองว่าประเทศไทยมีองค์ประกอบของแพลตฟอร์มในบางส่วนอยู่แล้ว เหลือเพียงการทำให้เชื่อมต่อกันและหาหน่วยงานที่จะเข้ามาบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่ประชุมยังมองอีกว่า สำหรับประเทศไทยเองการนำผู้ประกอบการเข้าแพลตฟอร์มเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการสื่อสารให้ผู้ประกอบการรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับในการเข้าร่วม สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลทางการค้า มีความสะดวกในการใช้งาน และการดึงดูดผู้ประกอบการเข้าร่วมแพลตฟอร์มไม่ควรมองแค่เชิงปริมาณ แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่ไปด้วย การสร้างศูนย์กลางการบริการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในแพลตฟอร์ม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดพี่เลี้ยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยนำเอาองค์ความรู้จากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการตลาด ศิลปศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงด้านที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ออกแบบประชาสัมพันธ์สินค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในแพลตฟอร์มได้อย่างเกิดประสิทธิภาพจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถสร้างความสมบูรณ์ให้กับ Thailand Trade Platform

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad