เกษตรผสมผสาน และการพัฒนาระบบชลประทาน คือหัวใจของการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่แม่แจ่ม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เกษตรผสมผสาน และการพัฒนาระบบชลประทาน คือหัวใจของการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่แม่แจ่ม


แทงก์น้ำ
ด้วยผลจากการบริหารจัดการน้ำ ปรับปรุงระบบชลประทาน และเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำให้ไร่ของพ่อหลวงมนตรี มีสภาพประหนึ่งโอเอซิสเขียวชอุ่ม ท่ามกลางภูมิทัศน์แห้งแล้งในพื้นที่ประสบภัยแล้ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

‘พ่อหลวงมนตรี’ ปราชญ์ชุมชนแห่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เผย การทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างแหล่งน้ำในท้องถิ่น และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน คือเคล็ดลับความสำเร็จของชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พลิกฟื้นความเป็นอยู่ของเกษตรกรแม่แจ่มให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
แม้ว่าฤดูแล้งนี้ อ.แม่แจ่ม นับนเป็น 1 ใน 21 อำเภอในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 40 ปี ทว่า มนตรี ภาสกรวงศ์ หรือ ‘พ่อหลวงมนตรี’ เกษตรกรนักสู้แห่งบ้านแม่ชา และหนึ่งในผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่เกษตรกรที่นี่จะยังมีน้ำท่าพอเพียง พวกเขายังสามารถเพาะปลูกอาหาร มีผลผลิตพอกินพอใช้ และเหลือจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว
พ่อหลวงมนตรี กล่าวว่า ด้วยอานิสงค์จากการน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเอง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พื้นที่เพาะปลูกกว่า 27 ไร่ ของเขา มีสภาพประหนึ่งสวรรค์บนดินที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า และเขียวขจีไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารหลากหลายชนิด
แต่ในอดีต ก่อนที่เขาจะผันตัวเองมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างจริงจัง ที่ดินผืนนี้เคยมีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ผืนดินแห้งแล้งเสื่อมโทรมจากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเขาต้องเลิกทำการเกษตร และละทิ้งถิ่นฐาน หันไปรับจ้างขายแรงงานในเมืองในที่สุด
“ถึงแม้ค่าจ้างแรงงานในเมืองจะสูง แต่ก็ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุนชีวิตที่มีค่าใช้จ่าย ทั้งอาหาร และที่พัก จึงถึงเวลากลับภูมิลำเนา เพื่อสืบสานรากฐานที่เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร” พ่อหลวงมนตรี กล่าว
จากสภาพปัญหาที่เขา และเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ทั้งสภาพดินเสื่อม น้ำไม่เพียงพอ ขาดแคลนเงินทุน จำต้องปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวแม้จะขาดทุน ดังนั้นเพื่อปลดแอกตนเองจากวังวนปัญหาของการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว พ่อหลวงมนตรี จึงสวนกระแสเกษตรกรส่วนใหญ่ ด้วยการทำ “เกษตรอย่างยั่งยืน” โดยหวังว่าจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัว และคืนสมดุลธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถพึ่งพาทรัพยากรได้ยืนยาว
“ด่านแรกของการเริ่มต้นคือ จัดสรรผืนดินแห้งแล้งให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีพี่เลี้ยงที่ช่วยแนะนำความรู้เพื่อพลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรม จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. รวมทั้งเครือข่ายแม่ละอุป และมูลนิธิรักษ์ไทย ด้วยการนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในพื้นที่ และปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรไปเป็นรูปแบบของวนเกษตร” เขาระบุ

พ่อหลวงมนตรี
มนตรี ภาสกรวงศ์ หรือ ‘พ่อหลวงมนตรี’ เกษตรกรนักสู้แห่งบ้านแม่ชา

พ่อหลวงมนตรี ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพลิกฟื้นผืนดินมรดกเสื่อมโทรม ให้สามารถกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยการสร้างแหล่งน้ำ ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำ ขุดสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เชื่อมต่อแหล่งน้ำด้วยท่อเพื่อนำน้ำช้ในพื้นที่เกษตร พร้อมวางระบบน้ำแบบหยด เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงพืชได้ตลอดเวลา และเป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ เขายังได้ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการใช้เครื่องสูบน้ำอีกด้วย
สำหรับการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร เขามุ่งเน้นการจัดสรรพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมกับฤดูกาลและปริมาณน้ำ พร้อมกับจัดทำวนเกษตร คือการสร้างป่าในพื้นที่แปลงเกษตร ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลายทั้งไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้มะฮอกกานี, ไม้ผล เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ เสาวรส มะพร้าว, และพืชผักสวนครัว เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว จากการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ซึ่งมีระยะเวลาในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแตกต่างกัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตตลอดทั้งปี
ด้วยเหตุนี้ พ่อหลวงมนตรี จึงย้ำว่า การวางระบบการบริหารจัดการน้ำให้มีแหล่งน้ำสำรอง และมีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการทำเกษตรผสมผสาน สามารถพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งบนภูเขาหัวโล้นให้เป็นแดนสวรรค์อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ พร้อมรับมือกับวิกฤตภัยต่างๆ เช่น ภัยแล้ง หรือแม้กระทั่งวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
“ในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง เรายังเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 จนสร้างปัญหาการกักตุนสินค้าไปทั่ว แต่ผมกลับมั่นใจในการบริหารจัดการน้ำตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ว่าจะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตใหญ่ดังกล่าวได้ เพราะสามารถปลูกพืชและมีผลผลิตที่ได้กินและใช้ในครัวเรือน เหลือก็จำหน่าย ไม่ต้องซื้อเพิ่มหรือกักตุนเหมือนคนอื่น” เขากล่าว
“ยังไม่สายไปหากชุมชนอื่นจะเริ่มหันมาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อทำเกษตร สร้างแหล่งอาหารให้ตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไปได้อย่างแน่นอน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad