ในช่วง “วิกฤตโควิด” เพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หลายท่าน อาจมีเหตุจำเป็นให้ต้องออกจากงานหรือลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี มีทางเลือกอะไรบ้างที่ทำให้เป้าหมายการออมเพื่อวัยเกษียณไม่สะดุด และที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นภาษีต่อเมื่อท่านเป็นสมาชิกกองทุนอย่างน้อย 5 ปี และมีอายุ 55 ปี ขึ้นไปเท่านั้น
- ออกจากงาน… รอโอนย้ายไป PVD ของนายจ้างใหม่
ในกรณีที่ออกจากงาน ท่านไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ เพราะสามารถ “คงเงิน” ไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยเงินที่คงไว้จะได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิมนับจากที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน
เมื่อได้งานใหม่ จึงค่อยมาโอนย้ายเงินที่คงไว้ในกองทุนเดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ก็ได้ หรือหากนายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเปลี่ยนใจไปทำอาชีพอิสระไม่มีนายจ้างก็สามารถโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) for PVD ในภายหลังก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะโอนไปกองทุนใหม่ หรือโอนไป RMF ก็ไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ
- ออกจากงาน… โอนเงินไป RMF for PVD
ในกรณีที่ออกจากงานแล้วไม่ต้องการคงเงินไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม หรือนายจ้างยกเลิกกองทุนไปแล้ว ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ โอนย้ายเงินจาก PVD ไปยัง RMF เพราะนอกจากจะทำให้ไม่เสียภาษีแล้ว ยังช่วยให้เงินลงทุนที่มีอยู่ได้ทำงานต่อเนื่อง ตามแผนการออมระยะยาวที่วางไว้
หากเลือกเดินหน้าในเส้นทางนี้แล้วจะไม่สามารถถอยหลังกลับมาได้ เพราะเงินลงทุนที่โอนจาก PVD ไป RMF แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะท่านสามารถย้ายกองทุนหรือเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเป็นการสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันเท่านั้น
นอกจากนี้ กองทุน RMF ที่สามารถรับโอนเงินจาก PVD ได้จะต้องเป็น RMF ที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เท่านั้น (RMF for PVD) ซึ่งต่างจากกองทุน RMF ปกติ เพราะ RMF ปกติ ต้องซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ขณะที่ RMF for PVD ไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เพราะมีหลักการเสมือนการ “คงเงิน” ไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม
เงื่อนไขการถอนเงินจาก RMF for PVD ก็จะเหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม นั่นคือ หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี โดยจะนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป และต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป
- กลับมาใหม่… เมื่อวิกฤตผ่านไป
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้ต้องออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านกลับมาเป็นสมาชิกกองทุนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เพราะการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือทางการเงินสำคัญ และมีความได้เปรียบกว่าการออมการลงทุนรูปแบบอื่นหลายประการ
นอกจากจะช่วยประหยัดภาษีแล้ว ท่านยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) การบริหารจัดการลงทุนโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพและมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนดีที่ในระยะยาว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นทางเลือกในการออมสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ในวัยเกษียณได้ง่ายขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น