วิกฤติแรงงานต่อความสำคัญทางเศรษฐกิจ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

วิกฤติแรงงานต่อความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ภาพจาก pixabay.com
ในขณะที่แนวโน้มของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ค่อยๆลดความรุนแรงลง ประเด็นที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกันอยู่ตอนนี้ก็เห็นจะเป็น “แรงงาน” ที่เป็นกลไกสำคัญในการขยับฟันเฟืองทางเศรษฐกิจให้หมุนต่อไปอย่างราบรื่น และเร็วขึ้นหรือทำให้กลับมาหมุนใหม่ได้อีกครั้งสำหรับในส่วนที่หยุดชะงักไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสั่งปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดงาน ในหลายเดือนที่ผ่านมาได้ทำลายภาคแรงงานให้ย่อยยับลงอย่างแสนสาหัส แต่นานาประเทศทั่วโลกก็ไม่มีทางให้ได้เลือกมากนัก (หรือบางประเทศอาจมีทางให้เลือก แต่ดันเลือกไปผิดทาง)ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็นประเทศที่ล้มละลายทางเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องกัดฟันพาอัตรา“แรงงาน” ที่หายวูบไปอย่างน่าใจหาย ให้กลับคืนมาใกล้เคียงกับอัตราเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งต้องขอย้ำอีกทีว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายจริงๆ
เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ออกมาเตือนว่า การลดชั่วโมงการทำงานลงอย่างฮวบฮาบทั่วโลก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19จะส่งผลให้แรงงานนอกระบบจำนวน 1.6 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานทั่วโลก ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำรงชีวีต โดยข้อมูลจากรายงาน COVID-19 and The World of Workฉบับที่ 3 ของ ILO คาดการณ์ไว้ว่า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงในไตรมาสที่ 2ของปีค.ศ. 2020 (2563) จะรุนแรงกว่าที่ประมาณการไว้ในตอนแรก (ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส ไตรมาส 4 ปี 2562) จากตำแหน่งงานประจำ 195 ล้านคน หรือ 6.7% จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.5%หรือ 305 ล้านตำแหน่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาของมาตรการปิดงาน ปิดเมืองปิดประเทศ (Lock Down)
ที่สำคัญ รายงานฉบับนี้ยังบอกว่าแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดในตลาดแรงงาน เพราะธุรกิจหรือกิจการที่พวกเขาสังกัดหรือทำงานอยู่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีการประมาณการว่า ช่วงเดือนแรกของการแพร่ระบาด (มีนาคม) ได้ทำให้แรงงานนอกระบบทั่วโลกมีรายได้ลดลง 60% โดยแบ่งเป็นในแอฟริกา อเมริกาเหนือ กลาง และใต้81% เอเชียและแปซิฟิก 21.6% และยุโรปและเอเชียกลาง 70% ซึ่งหากพวกเขาไม่มีแหล่งรายได้อื่นๆ มาจุนเจือ ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า แรงงานนอกระบบเหล่านี้รวมถึงครอบครัวของพวกเขาจะขาดรายได้สำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป
“สำหรับแรงงานหลายล้านคน การที่ไม่มีรายได้ หมายถึงการไม่มีอาหาร ไม่มีความมั่นคง และไม่มีอนาคต เมื่อวิกฤติการแพร่ระบาด และการตกงานยังคงดำเนินอยู่ ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปกป้องผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเหล่านั้น”นี่คือ ความเป็นห่วงของ “กาย ไรเดอร์”ผู้อำนวยการ ILO นอกจากนี้ เขายังแนะนำให้ทั่วโลกออกมาตรการเร่งด่วนที่ยืดหยุ่นเพื่อช่วยเหลือแรงงาน และธุรกิจให้ตรงเป้า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กธุรกิจในเศรษฐกิจนอกระบบ และผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง
แน่นอนว่า หลายรัฐบาลทั่วโลกก็เดินหน้าตามที่ ILO แนะนำกันอย่างเต็มที่มีการเบิกงบประมาณมหาศาลมาใช้จนสื่อขนานนามเรียกกันในภาษาข่าวที่ว่า “บาซูก้าการคลัง” ซึ่งก็มีทั้งที่เข้าเป้า และพลาดเป้ากันไปตามศักยภาพของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ในบทความนี้ จึงหยิบการใช้จ่ายงบประมาณทั้งปกติ และแบบพิเศษในแต่ละประเทศมาลองเทียบเคียงกันดูว่า แบบไหนที่ “แรงงาน”จะได้ประโยชน์ หรือ “เศรษฐกิจ” จะไปต่อได้ และอะไรคือหัวใจสำคัญของกระบวนการหรือนโยบายนั้นๆ
เริ่มจากประเทศอังกฤษ หลังมาตรการปิดเมืองเกิดขึ้น รัฐบาลของนายกรัฐนตรี “บอริส จอห์นสัน” (Boris Johnson) อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้แรงงานร้อยละ 80 ของค่าจ้างล่าสุดที่ได้รับ อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ หรือราว 9.5 หมื่นบาท พร้อมกับย้ำว่ามาตรการนี้จะใช้กับสถานประกอบการทุกขนาดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นล้านปอนด์ หรือราว 1.14 ล้านล้านบาท และเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอีก 12 เดือน รวมไปถึงการพักการเก็บภาษีท้องถิ่นสำหรับธุรกิจสำหรับกิจการภาคค้าปลีก ภาคบริการและท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 12 เดือน นอกจากนี้ผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยตกลงจะพักชำระหนี้ไปก่อน3 เดือน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นต้น
สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ รัฐบาลจะอุดหนุนค่าจ้างให้แรงงานเต็มเวลา (ทำงาน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เป็นเงิน 585.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์และ 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์สำหรับแรงงานพาร์ทไทม์ (ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) โดยนายจ้างจะได้รับเงินก้อนนี้เป็นก้อนเดียวเพื่อช่วยแรงงานเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ นายจ้างหนึ่งคนสามารถรับเงินอุดหนุนได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายจ้างทั้งที่เป็นธุรกิจส่วนตัว ผู้รับเหมา หรืออาชีพอิสระในทุกภาคส่วนสามารถลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนนี้ได้ และเงินส่วนข้างต้นนี้จะถูกนำไปจ่ายให้กับลูกจ้างที่ต้องกักตัวเองที่บ้านในอัตราส่วนที่ระบุเอาไว้ตามประเภทแรงงานด้วย (14 วันตามระยะเวลากักตัวมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข)
ทางด้านรัฐบาลจีน ได้ออกมาตรการลดหย่อน และงดเว้นภาษี และการจ่ายเบี้ยประกันสังคม เพื่อให้บริษัทยังพอดำเนินการไปต่อในช่วงที่มีการแพร่ระบาดได้ โดยคาดว่า รัฐจะต้องใช้งบประมาณถึง 5 แสนล้านหยวน (2.305 ล้านล้านบาท) ในการอุดหนุนดังกล่าว มีการจ่ายเงินอุดหนุนการจ้างงานให้กับบริษัทต่างๆ ภาครัฐและเอกชน จัดให้มีการฝึกอาชีพออนไลน์ มีบางแห่งจ่ายเงินให้กับแรงงานที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มหาวิทยาลัยมีบริการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาจบใหม่ด้วย สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นมีการเปิดตำแหน่งงานเพิ่มในโรงงานต่างๆ รวมถึงจ่ายเงินอุดหนุนการจ้างงาน ให้แรงงานที่กลับบ้านได้ทำงานในพื้นที่ไปเลย และที่พิเศษ คือในมณฑลหูเป่ย์ ศูนย์กลางการแพร่ระบาดธุรกิจต่างๆ มีมาตรการจูงใจให้คนกลับมาทำงาน โดยเพิ่มเงินชดเชยให้วันละ 100 หยวน (ราว 461 บาท)
ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีมติออกมาตรการบรรเทาผลระทบให้กับนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19โดยจะช่วยนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างที่ถูกลดเวลาทำงานร้อยละ 75 ของเงินที่ถูกลดลงไป นอกจากนั้น หากบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินคืนโครงการเงินกู้เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รัฐบาลจะชำระหนี้ให้สูงสุดร้อยละ 90 นอกจากนั้น ทางรัฐบาลกำลังวางแผนว่า จะมีมาตรการเยียวยาผู้ทำงานที่ทำงานอาชีพอิสระ (self-employed)ที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคน
เหล่านี้เป็นกระบวนการหรือนโยบายของประเทศต่างๆ ที่หยิบยกมาส่วนหนึ่ง ในการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะเห็นว่า ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญไปที่ “แรงงาน” เป็นหลัก ด้วยการพยายามต่อลมหายใจของพวกเขาเหล่านั้น ด้วยเงินช่วยเหลือ ด้วยสวัสดิการจากภาครัฐและการเข้าประคองธุรกิจต่างๆ ที่พวกเขาสังกัด ให้ดำรงคงอยู่ได้ต่อไป และนี่แหละคือ “หัวใจของการไปต่อของเศรษฐกิจหลังโควิด-19” ที่ทุกประเทศควรต้องใช้งบประมาณเข้าไปปั๊มให้มันกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อที่เม็ดเงินอันมากมายจะได้ไม่ถูกใช้ไปอย่างน่าเสียดายบนความไร้ประสิทธิภาพของแต่ละรัฐบาล
ที่มา แนวหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad