โลกหลัง COVID-19 คำตอบสำหรับประเทศไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

โลกหลัง COVID-19 คำตอบสำหรับประเทศไทย


ภาพจาก www.bot.or.th

โลกหลัง COVID-19 คำตอบสำหรับประเทศไทย


โดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์


วิเคราะห์ทีละช็อต! โลกและเศรษฐกิจหลัง COVID-19 และนโยบายการเงินและการคลังหลังโควิดควรเป็นอย่างไร? รวมถึงคาดการณ์ธุรกิจรายเซ็กเตอร์ว่า เซ็กเตอร์ไหนจะรุ่งจะรอด หรือจะร่วง?

เนื่องจากผู้เขียนได้รับเกียรติอย่างสูง จากวารสารการเงินการคลัง สัมภาษณ์ลงใน FPO Journal Talks ครั้งที่ 1 ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้อ่านที่เป็นนักธุรกิจและนักลงทุน รวมถึงต่อผู้กำหนดนโยบาย จึงขออนุญาตนำเสนอ ณ ที่นี้ด้วย
คำถามที่ผู้เขียนได้รับมี 3 คำถาม ดังนี้

1.โลก/เศรษฐกิจหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร?
คำตอบ ในช่วง Super New Normal ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เป็นอย่างเร็ว (ขึ้นอยู่กับการค้นพบวัคซีน การแจกจ่ายทั่วโลก ว่าจะรวดเร็วเพียงใด) โลกจะเปลี่ยนไป 10 ประการ คือ 
(1) “หนี้ท่วม” จากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 
(2) “Supply chain สั้นลง” จากการที่บริษัทต่างๆ จะลดการพึ่งพิงจีนและหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น
(3) “คนกลัวเสี่ยง” (Consumer risk-aversion) จากวิกฤติครั้งนี้ จะทำให้ผู้คนไม่แน่ใจในอนาคตมากขึ้น จึงจะลดการบริโภคลง 
(4) “Zombie company” บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐจะอยู่ยาว แม้ว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
(5) “ยิ่งโตต่ำ” เศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติ COVID จะยิ่งโตต่ำมากขึ้น 
(6) “ยิ่งค้าน้อย”  มูลค่าการค้าโลกในระยะต่อไปยิ่งน้อยลง ผลทั้งจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) 
(7) “โภคภัณฑ์ยิ่งถูก” โดยเฉพาะน้ำมัน จากกระแส Super new normal ที่ผู้คนต้องการการปฏิสัมพันธ์น้อยลง ก็จะกดดันให้ความต้องการเดินทาง 
(8) “ผลตอบแทนการลงทุนยิ่งต่ำลงและผันผวน” จากดอกเบี้ยต่ำและ QE จะทำให้ Risk-free rate และ Risk Premium ลดลง
(9) “IT คือผู้ชนะ - Experience คือผู้แพ้”  โดยหลังวิกฤติครั้งนี้จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจโลกอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยีและเป็นลบต่อกลุ่มบริการ  
(10) “กฎระเบียบภาครัฐจะเพิ่มขึ้น” ในอนาคตภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดฯ รวมทั้งที่ Credit rating อยู่ในระดับ Investment grade จะถูกตรวจสอบและกำกับเข้มข้นขึ้น

2.นโยบายการเงิน/คลัง หลังโควิดควรเป็นอย่างไร?
คำตอบ ในช่วงที่ COVID แพร่ระบาด และทั่วโลกดำเนินนโยบายปิดเมือง ทางการต่างๆ ทำมาตรการการคลังขาดดุลมหาศาลในระดับประมาณ 10% ของ GDP ทั่วโลก เพื่อช่วยเยียวยาและประคับประคองเศรษฐกิจ ทำให้หนี้สาธารณะท่วมโลก
โดย IMF คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มจาก 83.3% ของ GDP ในปีที่แล้วมาเป็น 96.4% ในปีนี้ และผู้เขียนมองว่าอาจเพิ่มได้ถึง 120% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ประเทศใหญ่ๆ อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก เช่น สหรัฐ (150%) ยูโรโซน (120%) จีน (80%) ญี่ปุ่น (300%) และไทย (70%)
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องทำ คือนโยบายการคลังและการเงินจะต้องทำงานสอดประสานกันในอนาคต โดยนอกจากภาครัฐจะมี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจจาก COVID แล้วนั้น พ.ร.บ.งบปี 2564 แบบปกติ รัฐบาลไม่ควรลดทอนงบลงทุน แต่ควรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้น GDP (ซึ่งจะลดทอนสัดส่วนหนี้สาธารณะลง) ขณะที่การกู้ยืมเงินภาครัฐควรเป็นการกู้ยาว เพราะดอกเบี้ยถูก (ดอกเบี้ยพันธบัตร 30 ปีอยู่ที่ 2%) และสามารถนำเงินมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้
ขณะที่นโยบายการเงินก็ควรสอดทำงานสอดประสานกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ทำมาตรการ QE รวมถึงประกาศตรึงผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) เพื่อช่วยกดรายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐรวมถึงต้องเริ่มพิจารณานโยบายการเงินแนวใหม่ (Modern Monetary Theory: MMT) หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรงในตลาดแรก เพื่อช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการซ่อม-สร้างเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ธปท.ควรเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อให้ได้ 4-5% ซึ่งจะทำได้โดยการทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้า (NEER) อ่อนค่าลง 20% ใน 2 ปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และลดทอนมูลหนี้สาธารณะลงได้

3.คาดการณ์ธุรกิจราย sector ว่า sector ไหนจะรุ่งจะรอด จะร่วง?
คำตอบ ผู้เขียนขอคาดการณ์ภาคธุรกิจที่จะเป็นผู้ชนะและผู้แพ้หลังวิกฤติเรียงตามลำดับ ดังนี้
(1) เทคโนโลยีและ e-commerce หลังวิกฤติ COVID สิ้นสุดลง การน้อมรับเทคโนโลยี (Technology transformation) จะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิต ทั้งในด้านการใช้ชีวิต สันทนาการ การผลิต การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการทำงาน โดยในมุมของการค้า การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อจะปรับตัวไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจบริการ Delivery และการชำระสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เติบโตตาม ทำให้สังคมไร้เงินสด (Cashless society) มีบทบาทมากขึ้น
(2) สินค้าจำเป็น การที่ผู้บริโภคกลัวความเสี่ยง (Consumer risk-aversion) ทั้งจากการจับจ่ายสินค้านอกบ้าน (ที่อาจติดเชื้อได้ง่าย) และจากภาวะวิกฤตที่กระทบรายได้ ทำให้ประหยัดมากขึ้น (Frugal economy) ผู้บริโภคจึงจะลดการบริโภคลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย แต่จะยังบริโภคสินค้าจำเป็นมากขึ้น
โดยงานวิจัยตลาดผู้บริโภคของจีนของบริษัทที่ปรึกษา Mckinsey พบว่าหลังจากจีนกลับมาเปิดเมือง กว่า 30% ของผู้บริโภคซื้อเครื่องบำรุงผิวและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ลดลง และกว่า 50% ลดการแต่งหน้า ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า ในระยะต่อไป สินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น จะยังพอขายได้ แต่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จะมียอดขายลดลง
(3) ทรัพยากรธรรมชาติ (โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ในระยะต่อไป ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเหมือนก่อน ทั้งจากเศรษฐกิจตกต่ำ สภาวะภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนไป และนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว
(4) บริการ (โดยเฉพาะการจับจ่ายนอกบ้าน สันทนาการ และการท่องเที่ยว) COVID ทำให้การจับจ่ายนอกบ้าน สันทนาการ รวมถึงการท่องเที่ยวหดตัวลงอย่างมาก ทั้งระยะสั้นจากมาตรการห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศ ขณะที่ในระยะยาว ความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการระบาดของโรค จะทำให้การจับจ่าย สันทนาการ รวมถึงการท่องเที่ยวจะไม่กลับไปสู่สภาวะเช่นเดิม
ทำให้กำลังการผลิตภาคบริการจะเหลือเป็นจำนวนมาก ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ภัตตาคาร ร้านค้าเพื่อการจับจ่ายต่างๆ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่หดตัวลง ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น On-line และ Delivery ให้มากขึ้น
เหล่านี้คือคำตอบสำหรับไทยในโลกหลัง COVID นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย เตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad