กรมเจรจาฯ เผยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ 5 เดือนเพิ่ม 2.25% - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กรมเจรจาฯ เผยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ 5 เดือนเพิ่ม 2.25%

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศวิเคราะห์การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปช่วง 5 เดือนปี 63 พบมีการส่งออกไปยังประเทศที่ทำเอฟทีเอกับไทยมูลค่า 11,263 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.25% หรือคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด เผยเนื้อสุกร ส่งออกเพิ่มมากสุด ตามด้วยทุเรียนสด ปลา ไก่ มังคุดและอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวและมะม่วง
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยออกสู่ตลาดโลกในช่วง 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 16,731 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.57% และในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทยมูลค่า 11,263 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.25% คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลก โดยประเทศที่ไทยส่งออก 5 อันดับ อาเซียนมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งมีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ที่ไทยไม่มีเอฟทีเอด้วย
         
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรกแปรรูปไปยังตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย พบว่า นิวซีแลนด์ ขยายตัวสูงสุด เพิ่ม 23.64% รองลงมา คือ ฮ่องกง เพิ่ม 19.98% จีน เพิ่ม 15.98% ออสเตรเลีย เพิ่ม 8.28% ส่วนอาเซียน 9 ประเทศ ลด 1.59% แต่กัมพูชา เพิ่ม 33.67%
         
ส่วนสินค้าที่การส่งออกขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ เนื้อสุกรสด เพิ่ม 693% รองลงมา คือ ทุเรียนสด เพิ่ม 66.5% สินค้าปลาสด เพิ่ม 29% ไก่สด เพิ่ม 27.85% มังคุด และอาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นเท่ากัน 16% ผลิตภัณฑ์ข้าว  เพิ่ม 10% และมะม่วงสด เพิ่ม 4% ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยพบว่าสินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์มากเป็นอันดับต้น เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด เนื้อไก่สดและแปรรูป กุ้งปรุงแต่ง ปลาทูน่าและปลาทูน่าปรุงแต่ง และปลาสคิปแจ๊ค เป็นต้น
         
“เอฟทีเอนับเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่เอฟทีเอได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยแล้ว แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพสินค้า และศึกษาความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางอรมนกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad