อียูบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ แพ็คเกจกู้วิกฤตไวรัส 750,000 ล้าน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อียูบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ แพ็คเกจกู้วิกฤตไวรัส 750,000 ล้าน

อียูบรรลุข้อตกลง “ประวัติศาสตร์” สำหรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 750,000 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตไวรัส หลังจากหารือมาราธอนเกือบ 5 วัน และท่ามกลางการคัดค้านของชาติสมาชิกทางเหนือนำโดยเนเธอร์แลนด์ที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินให้เปล่าหลายแสนล้านยูโรแก่สมาชิกทางใต้ที่ใช้จ่ายงบประมาณหละหลวม

ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวเมื่อช่วงเช้าตรู่วันอังคาร (21 ก.ค.) หลังจากผู้นำ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงว่า ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของแรงงาน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงอนาคตของยุโรป

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์สำหรับยุโรป และถือเป็นครั้งแรกที่อียูมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันอย่างแท้จริง อันจะทำให้งบประมาณของยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ข้อตกลงนี้มีมูลค่า 750,000 ล้านยูโร (858,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งคณะมนตรียุโรปจะเป็นผู้จัดการระดมเงินจากตลาดทุนในนามของสมาชิก 27 ชาติเพื่อนำมาจัดสรรซึ่งประกอบด้วยเงินให้เปล่าแบบไม่ต้องใช้คืน 390,000 ล้านยูโร ลดจาก 500,000 ล้านยูโรที่เสนอในตอนแรก ที่เหลือ 360,000 ล้านยูโรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ก่อนหน้านี้อียูเชื่องช้าในการร่วมกันรับมือไวรัสโคโรนา และยิ่งอ่อนแอหลังจากอังกฤษถอนตัวออกไป แต่การร่วมใจในแผนกระตุ้นครั้งนี้บ่งชี้ว่า อียูสามารถยืนหยัดต่อสู้วิกฤตและยังคงเป็นหนึ่งเดียวกัน บรรดาผู้นำยังหวังว่า ข้อตกลงนี้รวมกับงบประมาณที่เกี่ยวข้องมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโรสำหรับปี 2021-2027 จะช่วยซ่อมแซมเศรษฐกิจที่เผชิญภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะนี้

การหารือกันอย่างเคร่งเครียดนานเกือบ 100 ชั่วโมง ขาดแค่ 20 นาทีจะเท่ากับสถิติเดิมที่ทำไว้ในการประชุมสุดยอดที่เมืองนีซของฝรั่งเศสเมื่อปี 2000 สะท้อนความแตกแยกระหว่างสมาชิกทางเหนือและใต้อย่างชัดเจน

ยุโรปนั้นถือว่า ควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ดีกว่าอเมริกามาก โดยหลังจากอิตาลีและสเปนถูกโจมตีจนน่วมในช่วงเดือนแรกๆ ชาติยุโรปสามารถตั้งหลักได้อีกครั้งและร่วมมือกันทั้งด้านการแพทย์ การเดินทาง และเศรษฐกิจ

ซัมมิตครั้งนี้มีเดิมพันสูงมากสำหรับเศรษฐกิจอียู ขณะที่มาตรการช่วยเหลือระยะแรกกำลังจะสิ้นสุดลงในฤดูร้อนนี้ท่ามกลางความกังวลว่า ฤดูใบไม้ผลิอาจมาพร้อมปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าเดิมและความไม่พอใจมากขึ้นของประชาชน

แพ็คเกจความช่วยเหลือนี้จะครอบคลุมการอัดฉีดเงินหลายแสนล้านยูโรให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะสเปนและอิตาลีที่มีหนี้สินมากมายและต่างล็อบบี้สุดกำลังเพื่อให้สมาชิกชาติอื่นๆ เห็นพ้องกับข้อตกลง

การเรียกร้องความสามัคคีต้องเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงจาก “พวกขี้เหนียว” ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศเล็กๆ ทางเหนือประกอบด้วยเนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ที่เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีความจำเป็น และไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิกทางใต้ที่มีแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณหละหลวม แต่ควรอยู่ในรูปเงินกู้แทน

ดังนั้น เพื่อแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้ มาตรการช่วยเหลือจึงมาพร้อมเงื่อนไขสำคัญ เช่น ประเทศที่รับเงินจะถูกควบคุมการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของยุโรปที่รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการรักษาสภาพแวดล้อม

ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้ยังเกือบล่มจากการที่ฮังการีและโปแลนด์ไม่พอใจข้อเรียกร้องให้ผูกความช่วยเหลือกับ “หลักนิติธรรม” ซึ่งหมายถึงการเคารพกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและระบบตุลาการที่เป็นอิสระ

ขั้นตอนต่อไปสำหรับข้อตกลงนี้คือ การหารือทางเทคนิคในหมู่ชาติสมาชิกและการให้สัตยาบันรับรองของรัฐสภายุโรปซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในวันพฤหัสบดี (23 ก.ค.)
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad