สนทนากับ “ผู้ว่า ธปท.” “ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัตน์” ต้องสร้างงานทุกภูมิภาค สร้างภูมิคุ้มกันทุกด้าน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สนทนากับ “ผู้ว่า ธปท.” “ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัตน์” ต้องสร้างงานทุกภูมิภาค สร้างภูมิคุ้มกันทุกด้าน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาวิชาการ สำนักงานภาค ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศูนย์เรียนรู้ ธปท. ซึ่งในช่วงเช้ามีการสนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ในหัวข้อ “ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัตน์” โดยมีนายสุทิวัส หงส์พูนพิพัฒน์ ผู้ประกาศข่าว สำนักข่าวไทย อสมท. รับหน้าที่ซักถาม

เมื่อโลกเข้าสู่วิกฤติโควิดภิวัตน์แล้ว

สุทิวัส: ก่อนที่จะก้าวต่อไป ขอถามก่อนว่า ณ ก้าวปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ บางคนเรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ท่านผู้ว่ามองอย่างไรบ้าง เราใช้คำนี้ได้เลยหรือไม่
ดร.วิรไท: ผมคิดว่าเราใช้ได้ว่าขณะนี้เป็นสภาวะที่เรียกว่าวิกฤติ เราถึงใช้คำว่าโควิดภิวัตน์ เพราะว่าจะต้องมีการอภิวัตน์คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดร้ายแรงมาก เราไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน ที่ผ่านมาเราอาจจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งและเราจะคุ้นเคยดี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินก็ดี หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะของเศรษฐกิจมหภาค
แต่คราวนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากทางด้านสาธารณสุขและไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยที่เดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลกและไม่รู้ว่าสถานการณ์ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางใด และไม่ใช่จะมองได้เฉพาะปัจจัยภายในประเทศ แต่มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกด้วย ซึ่งอันนี้ทำให้หลายเรื่องที่คิดกันมาก่อนว่าจะต้องมีการปรับตัว คราวนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องปฏิรูปมีการปรับตัวอย่างจริงจัง
ผมขอชวนถอยหลังนิดหนึ่งก่อนจะก้าวไปข้างหน้า เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าวันนี้เราอยู่ตรงไหน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดเป็นต้นมา ถ้าถอยกลับไปสักเดือนมีนาคม วันนั้นเราเริ่มเห็นการระบาดที่เข้ามาในไทยมากขึ้นและเป็นการระบาดที่กำลังกระจายตัวจากภูมิภาคในเอเชียไปสู่ภูมิภาคอื่นๆของโลก ช่วงนั้นเราไม่ค่อยรู้จักว่าโควิดเป็นอย่างไร สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เราจะเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่เรียกว่าเป็นวิกฤติเกิดขึ้นในตลาดการเงิน กลไกการทำงานของตลาดเงินหลายอย่างไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น เพราะว่าทุกคนตื่นตระหนก ทุกคนขอถือเงินสด หุ้นก็ขายออก ตราสารหนี้ กองทุนรวมก็ขายออก เป็นช่วงเวลาที่ราคาหุ้น ราคาตราสารหนี้ตกแรง แม้แต่ราคาทองคำยังตกเลย สะท้อนให้เห็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากกลไกทำงานของตลาดการเงินทั่วโลก ในช่วงนั้นเราพยายามเข้าไปช่วงดูรักษากลไกการทำงานของตลาดการเงินให้เป็นปกติ เพราะว่าถ้าตลาดการเงินมีปัญหาก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริงรุนแรงมากขึ้นไปอีก
พอมาในช่วงที่สองช่วงนั้นพูดกันในไทยว่าถ้าไม่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ อาจจะมีคนติดโรคถึง 100,000 คนและเตียงรักษาจะไม่เพียงพอ ถึงต้องมีมาตรการออกมาให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ทุกคนอยู่บ้าน อันนี้เป็นสิ่งที่ทำพร้อมกันทั่วโลกต่อเนื่องมาในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก และไม่เฉพาะไทยแต่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ถามว่าคนมีความต้องการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไปธุระ ไปทำงานหรือไม่ มีแต่ทำไม่ได้ เพราะสถานการณ์ของการแพร่ระบาดทำให้ต้องหยุด
วันนี้ต้องบอกว่าประเทศไทยด้วยความร่วมมือของทุกคน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ทำให้เราก้าวข้ามช่วงที่สองนั้นมาได้ดีกว่าอีกหลายประเทศ วันนี้เราสามารถควบคุมไม่ให้มีการระบาดในประเทศได้และเข้าสู่ช่วงที่สาม คือช่วงที่มาดูว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร เพราะมาตรการที่เราต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดเกิดผลกว้างไกลกับทุกคน ผมเชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่ถูกกระทบ วันนี้ผมเรียกว่าเราอาจจะเข้าสู่ช่วงที่สามที่เราต้องคิดว่าต่อจากนี้ไปจะฟื้นฟูและปรับโครงสร้างอย่างไรให้สอดคล้องกับโลกใหม่
อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเราก้าวผ่านช่วงที่สองแล้วอย่างสบายใจ เราการ์ดตกไม่ได้ เพราะว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังรุนแรงอยู่ในหลายประเทศ แต่น้ำหนักของเราต้องเปลี่ยนจากช่วงที่สองที่เศรษฐกิจหยุดชะงักที่ตอนนั้นต้องเน้นการเยียวยาให้ประชาชนอยู่รอดต่อไปได้ วันนี้การเยียวยาก็ยังสำคัญ เพราะมีคนอีกหลายกลุ่มเลยที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีผู้ประกอบการหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่น้ำหนักอาจจะต้องถ่ายมาเน้นการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับโลกใหม่ และนี่เป็นโอกาสที่เราก้าวสู่ช่วงที่สามได้เร็วกว่าประเทศอื่น ประเทศอื่นยังหาทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดอยู่เลย ยังออกจากการปิดเมืองไม่ได้ วันนี้เราออกมาได้แล้ว เราต้องช่วยกันคิดต่อ

เชื่อเศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่เร็วเหมือนวิกฤติก่อนหน้า

สุทิวัส: ไตรมาสที่สองมีสิ่งที่เรียกว่าวิกฤติอยู่ แต่ที่นี้พอเศรษฐกิจมีปัญหาแบบนี้ แล้ว ณ ตอนนี้ผ่านจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไปหรือยัง
ดร.วิรไท: ในมุมมองของ ธปท. เราคิดว่าช่วงไตรมาสที่สองเป็นช่วงที่แย่ที่สุดและวันนี้คิดว่าจะผ่านไปได้ เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจหยุดชะงักทั่วโลก เราอยากส่งสินค้าออกก็ไม่ได้ เครื่องบินหยุดบิน ท่าเรือหยุดทำงาน สินค้าส่งไปแล้วก็กระจายต่อไปไม่ได้ในประเทศปลายทาง หรือเราได้รับคำสั่งซื้อมาก็ผลิตไม่ได้อีก เพราะว่าเราต้องอยู่บ้าน สถานการณ์แบบนี้ทำให้ไตรมาสที่สองเศรษฐกิจหยุดชะงักงันไป ฉะนั้นผมว่าตัวเลขของเราก็จะสอดคล้องกับหลายประเทศในเอเชียที่ไตรมาสที่สองจะต่ำสุด
แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากไตรมาสที่สองเองก็จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป คงไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วอย่างก้าวกระโดด
ในประมาณการณ์ของ ธปท. ถ้าเราไม่มีการระบาดแบบรุนแรงแบบไตรมาสที่สอง ถ้าควบคุมได้ดีต่อไปคืออาจจะมีการเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆ แต่ถ้าไม่ระบาดรุนแรงออกไป เราคิดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวจนถึงปลายปีหน้าที่จะกลับไปเท่ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าใช้เวลาเกือบ 2 ปีให้เศรษฐกิจปรับตัวฟื้นขึ้นมา
สุทิวัส: ธปท. มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว U
ดร.วิรไท: อาจจะไม่ใช่ แต่ใช้เป็นเครื่องหมายถูกแต่หางยาวๆ คือตกลงมาและค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา แต่มีหลายปัจจัยความไม่แน่นอนหลายด้านที่ต้องช่วยกันระมัดระวังและจับตามอง อันแรกเลยคือเศรษฐกิจเราที่ดูตกลงมามากกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออก เพราะเราเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว ด้านท่องเที่ยววันนี้หยุดโดนสิ้นเชิง การระบาดเราก็ไม่สบายใจถ้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากเดินทาง เพราะมันก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อ ขณะเดียวกันรายได้ของนักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วโลกก็ตกลงด้วยจากการแพร่ระบาด ฉะนั้นการที่บอกว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคนต่อปีก่อนหน้านี้ คงใช้เวลาอีกหลายปี พอเป็นแบบนี้เราก็มีการจ้างงานที่อิงอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างมากไปด้วย ดังนั้นแม้ว่าจะควบคุมและเปิดการท่องเที่ยวกับมาได้ ก็จะไม่ฟื้นเร็วขนาดนั้น
อีกด้านหนึ่งคือภาคส่งออกที่มีความสำคัญมากกับเศรษฐกิจไทย โดยส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของต่างประเทศ พอประเทศคู่ค้ากระทบแรงจากวิกฤติครั้งนี้ อำนาจซื้อหรืออุปสงค์ก็ลดลง แต่อีกด้านหนึ่งเราต้องไม่ลืมว่ามีห่วงโซ่อุปทานในการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมต่อกันหลายประเทศ ดังนั้นถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งหยุดลง สินค้าหรือชิ้นส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่นั้นก็จะไม่สามารถผลิตออกมาได้สะดวกเหมือนเดิม ดังนั้นการส่งออกจะใช้เวลาในการฟื้นตัวได้และจะเป็นแบบค่อนเป็นค่อยไปมากกว่า ถ้าเรายังควบคุมการระบาดไม่ให้กลับมาระบาดรุนแรงได้

วิกฤติหนัก แต่โครงสร้างเศรษฐกิจพร้อมรับ

สุทิวัส: ทีนี้ถ้าเทียบย้อนกลับไปกับวิกฤติการเงินก่อนหน้านี้หลายครั้ง บริบทแตกต่างกันอย่างไร ครั้งนี้เป็นวิกฤติทางด้านสาธารณสุขจะแตกต่างกันอย่างไร
ดร.วิรไท: แต่ละวิกฤติมีบริบทต่างกันค่อนข้างมาก อย่างตอนปี 2540 เป็นวิกฤติเกิดขึ้นในไทยและเพื่อนบ้านของเรา เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาค ปัญหาความเข้มแข็งของระบบการเงิน ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดกิจการและสร้างผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจจริง รวมทั้งมีหนี้ต่างประเทศที่สูงมากขณะนั้น มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงต่อเนื่องมา ทำให้เศรษฐกิจเราต้องพึ่งพาเงินต่างประเทศค่อนข้างมากไปด้วย แต่ว่าตอนนั้นเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีปัญหา พอวิกฤติเกิดขึ้นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก แต่ภาคการส่งออกก็ขายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร ตอนนั้นรายได้เกษตรกรดีขึ้นมาก ถ้าจำได้ตอนนั้นค่าเงินอ่อนค่าไปถึง 57 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้นวิกฤติครั้งนั้นกลับขึ้นมาได้เร็ว โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจจริงที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออก แต่ส่วนภาคการเงินต้องใช้เวลานานมากกว่าจะต้องมาปรับตัวสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาใหม่
พอมาในวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 เป็นวิกฤติในประเทศอุตสาหกรรมหลัก สหรัฐฯ ยุโรป เป็นตลาดส่งออกของเรา แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหากับเศรษฐกิจในประเทศไทยมาก ระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง แม้ว่าสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปจะกระทบมีปัญหารุนแรงอย่างมาก แต่ไม่ได้กระทบกับภาคการเงินของเราเลย เพียงแต่ว่าด้านอุปสงค์หายไปคนที่จะมาซื้อสินค้าของเราหายไป เพราะเศรษฐกิจเขามีปัญหา แต่ช่วงนั้นข้อดีอีกอย่างคือเศรษฐกิจจีนที่เป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และจีนเขามีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากในช่วงนั้น ผนวกกับรัฐบาลในประเทศแถบนี้ก็กระตุ้นเศรษฐกิจออกมาด้วย ทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เร็วกว่า
แต่วันนี้อาจจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกที่วิกฤติเกิดขึ้นทั้งโลกพร้อมกัน และเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงโดยตรง วันนี้ระบบการเงินเข้มแข็ง ระบบการเงิน ผู้กำกับดูแล ธนาคารกลางทั่วโลกยังจำบทเรียนได้ดีจากวิกฤติสองครั้งก่อนหน้า ดังนั้นกลไกการกำกับดูแลสถาบันการเงินเข้มแข็งขึ้นมาก กลไกการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินมีเข้มแข็งขึ้นมาก วันนี้เขามีเงินสำรองในกองทุนในระดับสูง มีกลไกการตั้งสำรอง มีมาตรฐานบัญชีที่ดีกว่าเดิมมาก ในขณะเดียวกันในภาพใหญ่ของเศรษฐมหภาค โดยเฉพาะภาคต่างประเทศเรามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ได้ขาดดุลเยอะ มีการกู้ยืมเงินต่างประเทศต่ำมาก มีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง
ฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจมหภาคและระบบการเงินไม่ได้มีปัญหา ผมอาจจะเรียนว่าเป็นจุดแข็งของไทย ก็มีคนที่ไปเปรียบเทียบว่าครั้งนี้จะรุนแรงพอกันหรือไม่ หรือจะแรงกว่าปี 2540 หรือไม่ ในภาคเศรษฐกิจจริงรุนแรงไม่ต่างกัน แต่ภาคการเงินและเศรษฐกิจมหภาคต่างกันมาก มีคนถามต่อไปว่าต้องไปขอความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไม่ แล้วจะมาสั่งให้ทำนั่นทำนี่อีกหรือไม่ ผมยืนยันว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องไปขอความช่วยเหลือ แล้วขณะนี้จากสมาชิกของกองทุนฯ 194 ประเทศ แต่วันนี้มีคนไปขอความช่วยเหลือแล้วมากกว่า 102 ประเทศ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เกินครึ่ง เพราะมีประเทศจำนวนมากที่โครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคไม่เข้มแข็งและถูกผลกระทบแรงมาก โดยเฉพาะประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินต่างประเทศสูง ของไทยไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เรายังจำบทเรียนตอนปี 2540 ได้
สุทิวัส: ถ้าเทียบกับเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน ความเข้มแข็งเราอยู่ประมาณไหน
ดร.วิรไท: ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดูในด้านไหน ถ้าดูแง่ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง ผมคิดว่าเรากระทบค่อนข้างแรงอย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าเราพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมาก เราเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเปิด เราพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวมาก แต่ถ้าดูในเรื่องของความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินเราไม่ด้อยกว่าใคร ดูความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจมหภาคเรามีความเข้มแข็งชัดเจน เรามีกันชนทางด้านนี้ที่ค่อนข้างดีและสามารถบริหารจัดการนโยบายต่างๆ ภายในของเราให้เอื้อกับสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี
เช่น ถ้าเกิดเราพึ่งพาหนี้ต่างประเทศค่อนข้างมาก เหมือนตอนปี 2540 ที่เราต้องไปกู้ยืมเงินต่างประเทศมาก วันนี้เราคงไม่สามารถทำดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ได้ วันนี้สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปเหลือเพียง 0.5% ซึ่งต่ำสุดในประวัติการณ์ ซึ่งไปช่วยให้ธนาคารลดดอกเบี้ยลง และให้ภาคธุรกิจมีภาระดอกเบี้ยลดลง
หรืออย่างเช่นวันนี้ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินให้ช่วยออกมาตรการดูแลลูกหนี้ทั้งที่เป็นรายย่อยและผู้ประกอบการ การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ออกไป การลดดอกเบี้ย การเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาวออกไป พวกนี้ทำไม่ได้ถ้าสถาบันการเงินไม่มีเงินกองทุนที่ดีหรือไม่มีสภาพคล่องที่ดี เพราะมาตรการเหล่านี้จะไปกระทบกับสภาพคล่องกับฐานะเงินกองทุนของสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากว่าเราช่วยกันทำให้สถาบันการเงินมีกลไกกำกับดูแลที่ดี สร้างกันชนเอาไว้ในระดับที่สูง ก็ทำให้สามารถมาช่วยกันแก้ไขปัญหาในคราวนี้ได้

เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมดูแลระบบการเงิน

สุทิวัส: พอพูดถึงมาตรการแล้ว ในแง่การช่วยเหลือของนโยบายการเงินเราดูแลอย่างไรไปแล้วบ้าง
ดร.วิรไท: ในวิกฤติรอบนี้ไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ ต้องเป็นเรื่องของการประสานนโยบาย อาจจะเรียกว่าต้องหยิบทุกเครื่องมือที่ภาครัฐมีมาใช้งาน ถ้าย้อนกลับไปในช่วงแรกที่ทุกคนตระหนกตกใจ ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะระบาดไปแรงแค่ไหนหรือยาวแค่ไหน จบอย่างไร ทุกคนต้องการถือเงินสด กลไกตลาดการเงินเริ่มมีปัญหา ตอนนั้นเป็นหน้าที่ของ ธปท. โดยตรงเลยที่จะต้องดูแลให้กลไกการทำงานยังไปได้เป็นปกติ เพราะว่าถ้าไม่ปกติจะสร้างผลข้างเคียงต่อไปอีกมาก โดยเฉพาะทำให้เกิดแรงกระแทกกับภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้นไปอีก
ในช่วงนั้นจะเห็นว่าเรามีหลายมาตรการ ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 3 ครั้ง เราเป็นธนาคารกลางแรกๆ ที่ลดดอกเบี้ยลงตั้งแต่กุมภาพันธ์และลดต่อเนื่องมาสามครั้งจนต่ำที่สุดตอนนี้ ตอนนั้นคงจำได้ว่าหลายคนตื่นตระหนกกับกองทุนรวมสารหนี้จนไปเร่งไถ่ถอน เราก็ไปร่วมมือกับ ก.ล.ต. และกระทรวงการคลังออกมาตรการดูแลเสริมสภาพคล่องเข้าไป เพื่อลดความตื่นตระหนก หรือว่าการออกกองทุนดูแลตราสารหนี้รักษาเสถียรภาพที่ออกเป็นพระราชกำหนดต่อมา มาตรการเหล่านี้เป็นกลไกไปสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเป็นการเข้าไปสร้างเป็นหลังพิงให้ตลาดการเงินทำงานต่อเนื่องไปได้
ในช่วงที่สองเป็นช่วงที่ล็อกดาวน์หรือมีมาตรการปิดเมือง เรื่องสำคัญคือการเยียวยาก็มีออกมาตรการหลายอย่างช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี ของรายย่อยจะเห็นว่ามาตรการชุดแรกที่ออกไปตั้งแต่ปลายมีนาคม มีจำนวนคนที่ได้ประโยชน์ถึง 11 ล้านบัญชีจากบัญชีทั้งหมด 35 ล้านบัญชี สินเชื่อครอบคลุมหลากหลายประเภท ตั้งแต่สินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนบุคคล เช่าซื้อ บ้าน พวกนี้มีการยืดกำหนดการชำระหนี้ไปได้โดยไม่ต้องเสียประวัติ แล้วทุกคนมีโอกาสมาทบทวนความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองได้ ในกรณีของธุรกิจเอสเอ็มอีเช่นกัน ถ้าวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทก็เลื่อนกำหนดการชำระหนี้ออกไปเป็นการทั่วไป 6 เดือน ดังนั้นการเยียวยาทั้งประชาชนและธุรกิจสอดคล้องกับที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลเยียวยา เพราะวิกฤติครั้งนี้ทำให้รายได้คนหดหายไปในทันที นอกจากนั้นในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนอยู่บ้าน สถาบันการเงินก็ต้องทำงานที่บ้าน ห้างร้านต้องปิดอยู่บ้าน ดังนั้นการออกมาตรการโดยเร็วเป็นการทั่วไปและลดภาระการจ่ายหนี้ให้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ
แต่ตอนนี้พอเข้าสู่ช่วงที่สาม เมื่อเราควบคุมการระบาดในประเทศได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระหนี้สอดคล้องกับการความสามารถในการชำระหนี้ ฉะนั้นมาตรการในช่วงที่สามนี้จะเน้นลงเฉพาะกลุ่ม มาตรการช่วงที่สองคือประกาศเป็นการทั่วไปทุกคนได้เหมือนกัน แต่มาตรการชุดที่สามจะเน้นเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้สถาบันการเงินเข้าไปแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกหนี้แต่ละกลุ่มได้ตรงจุด เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีปัญหาไม่เหมือนกัน ความสามารถในการชำระไม่เหมือนกัน อันนี้เราได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด และขอให้จัดหลายโครงการมาช่วยให้ลูกหนี้มาเจรจากับสถาบันการเงินได้รวดเร็ว
สุทิวัส: แล้วตอนนี้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้คืบหน้าไปอย่างไร
ดร.วิรไท: ในส่วนของรายย่อยเราผ่านจบช่วงที่พักหนี้เป็นการทั่วไป เรากำลังอยู่ในช่วงที่ให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีหลายโครงการ จะเห็นว่ามาตรการของเราจะครอบคลุมลูกหนี้หลายประเภท ทั้งที่ยังชำระหนี้ได้บางส่วน ที่อาจจะกระทบแรงไม่สามารถชำระหนี้ได้ต้องการยืดเวลาออกไปไกลๆ หรือกระทั่งลูกหนี้ที่อาจจะกลายเป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อนหน้านั้นหรือถูกเหตุการณ์นี้กระทบมากขึ้น ก็มีหลากหลายมาตรการดูแล ตัวอย่างเช่นคลินิกแก้หนี้ที่เราผ่อนปรนเงื่อนไขไปมาก เพื่อขยายจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมได้
คลินิกแก้หนี้จะเป็นหน่วยงานที่เราขอให้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท. อีกที ทำหน้าที่ช่วยเป็นศูนย์ one stop เลย ไม่ว่าจะมีหนี้บัตรเครดิตกี่ธนาคาร มีสินเชื่ออะไรบ้าง สามารถเข้าไปเจรจาของปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ออกไปในระดับที่ชำระได้
อีกด้านหนึ่งเป็นทางด่วนแก้หนี้คือประชาชนที่ติตต่อและไม่ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว ก็ติดต่อเข้ามาที่ทางด่วนแก้หนี้ได้ หรือโทร 1213 คือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินได้ อีกทางหนึ่งมีเว็บไซต์ของ ธปท. สำหรับโควิด-19 เฉพาะจะมีข้อมูลโครงการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งของ ธปท. และสถาบันการเงินทั้งหมด ที่ประชาชนเข้าไปดูได้และจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
สุทิวัส: มีคำถามจากทางบ้านอยากให้ธนาคารผ่อนปรนออกไปอีก เพราะธุรกิจยังกระทบต่อเนื่องไปอีก
ดร.วิรไท: การพักหนี้สามเดือนนี้เป็นระยะแรกของมาตรการเท่านั้น ซึ่งเป็นขั้นต่ำ แต่มีหลายสถาบันการเงินที่มีโครงการที่ยาวกว่าและดีกว่าที่ประกาศด้วย แต่พอเป็นระยะที่สองของมาตรการนี้แนะนำให้รีบคุยกับสถาบันกาเรงิน เพราะเขาจะมีกลไกดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ อาจจะให้ยืดเวลาออกไปได้ ตอนนี้ที่สำคัญคือต้องเจรจาพูดคุยกับสถาบันการเงิน และถ้ามีปัญหาแจ้งมาที่ทางด่วนแก้หนี้ได้
สุทิวัส: ยังมีอีกหลายคำถามสะท้อนเข้ามาว่าอยากให้สถาบันการเงินช่วยดูแลเรื่องการปรับดอกเบี้ยด้วยอีกระยะ
ดร.วิรไท: ผมเรียนอย่างนี้ว่ามีตัวอย่างโครงการอันหนึ่งที่ขอให้ทุกสถาบันการเงินจัดทำสำหรับลูกหนี้รายย่อย ที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือส่วนบุคคล ซึ่งปกติต้องเป็นเงินหมุนเวียนและมีดอกเบี้ยสูงมาก แม้ว่าเราจะปรับเพดานลงมาแล้วแต่ก็ต้องยอมรับว่ายังสูงในภาวะแบบนี้ที่รายได้ของประชาชนถูกกระทบแรง เราขอให้สถาบันการเงินทำโครงการให้แปลงหนี้ระยะสั้นออกไปเป็นหนี้ระยะยาวเป็น 48 งวดเลย ก็ทำให้เหลือต้องผ่อนน้อยลงและยืดเวลาออกไปได้นาน ฉะนั้นสามารถเข้ามาดูได้ เรามีเว็บไซต์พิเศษที่เข้าไปดูได้ของแต่ละสถาบันการเงิน คือ https://www.bot.or.th/covid19/Pages/default.aspx หลายอันสามารถกดเข้าไปยังสถาบันการเงินต่อได้เลยด้วย
สุทิวัส: แล้วกรณีที่มีคนที่จ่ายไหว แต่เลือกที่จะไม่จ่ายแทนช่วงนี้
ดร.วิรไท: อันนี้ถ้ามองในลักษณะของระบบการเงินโดยรวม ต้องระมัดระวัง การทำมาตรการเป็นการทั่วไปแบบนี้ก็มีคนที่สามารถจ่ายได้ ก็อาจจะใช้โอกาสไม่จ่ายไปด้วย จะทำให้สถาบันการเงินมีทรัพยากรจำกัดขึ้นที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เพราะอย่างลืมว่าพอเราหยุดการชำระหนี้ไป ทั้งดอกเบี้ยเงินต้น แต่สถาบันการเงินต้องจ่ายดอกเบี้ยให้คนฝากเงินทุกเดือน ดังนั้นก็อาจจะมีปัญหาที่ระบบสถาบันการเงินตามมาได้ ถ้าเราทำมาตรการเป็นการทั่วไปต่อ คือนอกจากจะไม่ตรงจุดแก้ปัญหาให้ได้ อาจจะเป็นปัญหาเป็นผลข้างเคียงกับสถาบันการเงินไปด้วย ผมคิดว่าเรื่องสำคัญควรจะเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างแท้จริง

ทางออกต้องสร้างงานที่ยั่งยืนทุกภูมิภาค

สุทิวัส: ตอนนี้มาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจหลังจากนี้ สิ่งที่กังวลคืออะไร
ดร.วิรไท: ถ้าถามว่าผมกังวลอะไรมากที่สุด ผมกังวลการจ้างงานมากที่สุด เพราะว่าการระบาดกระทบกับเราแรงมากโดยเฉพาะภาคบริการและภาคการผลิต ซึ่งเป็นภาคที่จ้างงานในระดับสูงและมาแบบไม่ได้ตั้งตัวเลย หลายคนต้องตกงาน ที่สำคัญถ้ามองไปยาวๆ ถ้าสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง ผมเชื่อว่าหลายคนก็จะไม่สามารถกลับมาในตลาดแรงงานในโลกใหม่ได้ เพราะตลาดแรงงานจะแตกต่างไป ด้วยหลายเหตุหลายปัจจัย
อันแรกเลยคือกำลังการผลิตส่วนเกินสูงมาก ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลก หลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตอยู่ อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เราคาดหวังจะให้มีนักท่องเที่ยวเหมือนเดิมปีละ 40 ล้านคนไม่ได้ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะฉะนั้นแรงงานที่เคยอยู่ตรงนี้จะไม่สามารถกลับเข้ามาได้ แล้วผ่านไป 2-4 ปี เขาก็อายุมากขึ้นทุกวันอีก แล้วรูปแบบของนักท่องเที่ยวก็จะแตกต่างไปด้วยกลุ่มทัวร์ใหญ่ๆ ก็อาจจะหายไป ดังนั้นรูปแบบของแรงงานเหล่านี้จะปรับตัวอย่างไรให้กลับมาได้ ทักษะของแรงงานเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไปทางไหน
ในภาคการผลิตเราจะเห็นว่าก่อนหน้านี้มีกระบวนการไปใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งต้นทุนถูกลงมาก แล้วทักษะที่แรงงานต้องมีก็ต้องสูงขึ้น ไม่ใช่ไร้ทักษะหรือทักษะต่ำเหมือนเดิม ดังนั้นถ้าแรงงานเหล่านี้ออกไปจากตลาดแรงงาน พอกลับมาหลังจากนั้นกระบวนการผลิตจะเปลี่ยนไปแล้ว ในโลกที่ทุกคนต้องคำนึงถึงต้นทุน การใช้เครื่องจักรทำงานได้ 24 ชั่วโมง ไฟไม่ต้องเปิด แอร์ไม่ต้องเปิด ระยะห่างก็ไม่ต้องมี ดังนั้นเราเชื่อว่าจะเปลี่ยนวิถีการผลิตของอุตสาหกรรมไป แล้วจะดูแลแรงงานอย่างไร
อีกด้านหนึ่งคือผู้จบการศึกษาใหม่ในหลายระดับที่ตลาดแรงงานจะหางานยากมาก แล้วถ้าหางานไม่ได้ในสองปี ทฤษฎีหรืองานวิจัยมากมายสะท้อนไปถึงศักยภาพในระยะยาวและความสามารถในการหางานที่ลดลงไปมาก อย่าลืมว่าผ่านไป 2 ปีเขาต้องแข่งกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จบตามมา และจบออกมาด้วยทักษะใหม่ๆ ขึ้นไป วันนี้สถาบันการศึกษาก็ปรับไปดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรไม่ให้ช่วงเวลาสองปีตรงนี้กลายเป็นแผลกับพวกเขาในระยะยาวที่จะมีผลกระทบกับศักยภาพของเขา
อันนี้มองว่าเป็นความกังวลใหญ่ในเรื่องของการสร้างงานเพื่อที่จะรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แรงงานที่ได้รับผลกระทบ แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเรียนว่ามีข้อดีอย่างหนึ่งคือยังมีสังคมชนบทสามารถรองรับกลับไปได้บ้าง วันนี้เราก็เห็นแรงงานที่กลับไปชนบท แต่เราก็มองเห็นปัญหาเรื่องความอ่อนแอของภาคชนบท ความอ่อนแอของสังคมชนบทอีกมาก ปัญหาอย่างครอบครัวโหว่กลาง เราก็ได้ยินมาตลอด พ่อแม่รุ่นวัยกลางคนเข้าเมืองไปหมด
ความอ่อนแอทั้งในการศึกษาของคนรุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต ไปจนถึงภาคเกษตรที่ไทยยังมีศักยภาพอีกมาก แต่ผลผลิตต่อไร่แทบทุกชนิดยังได้ต่ำมาก ต่ำกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาการได้ดีมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เขาก็ไม่มีกลไกไปเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะไปได้ หรือวิสาหกิจชุมชนที่ยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก มีศักยภาพได้อีกมาก
ผมมานั่งดูช่วงโควิดที่เราไปซื้อของไม่ได้ วันหนึ่งผมประหลาดใจตัวเองว่ามีของสองอย่างที่ผมสั่งมาออนไลน์คือถั่วลายเสือจากแม่ฮ่องสอนอีกอันคือปลากะพงหยองจากยะลา ผมก็มานั่งคิดว่าถ้าปกติเราคงไม่มีของจากสองที่นี้มาตั้งอยู่ตรงนี้ง่ายๆ แต่ทั้งสองนี้เป็นของที่ดีอร่อยมากของกลุ่มแม่บ้านทำ แปลว่าเดี๋ยวเราสามารถสั่งของแบบนี้ได้ง่ายๆ วันเดียวส่งมาถึง กทม. ได้ด้วยการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ แปลว่ายังมีศักยภาพอีกมากที่แรงงานที่ตกงานจาก กทม. มีประสบการณ์การอยู่ในเมืองเป็นคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี เอาเรื่องพวกนี้กลับไปสู่ต่างจังหวัดด้วย
คำถามสำคัญคือจะสร้างความยั่งยืนของงานได้อย่างไร และต้องคิดในลักษณะที่ให้มีผลในวงกว้างด้วย เรากำลังพูดถึงคนหลายล้านคน ถ้าเขาจะสามารถมีตำแหน่งงานที่ยั่งยืนตรงนั้น ก็จะสร้างเศรษฐกิจต่างจังหวัด เศรษฐกิจในท้องถิ่นขึ้นมาได้ และช่วยตอบโจทย์ระยะสั้นและระยะยาวไปด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นวาระที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
สุทิวัส: งบฟื้นฟูก็จะมีการจ้างงานอยู่ แต่เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น จะเพียงพอหรือไม่
ดร.วิรไท: อันนั้นจะเป็นเรื่องของการเยียวยาด้วย ในระยะสั้น แต่ผมคิดว่าเราต้องคิดไปถึงเรื่องยาวกว่าว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ฝากชีวิตไว้ที่ต่างจังหวัดได้ โดยไม่ต้องกลับมาในเมืองใหญ่หรือกลับมาภาคอุตสาหกรรมอีกได้ เพราะยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ มีการปรับรูปแบบกระบวนการผลิตไปหลายอย่าง ถ้าเราสร้างงานและรักษาเอาไว้ในต่างจังหวัดได้ อันนั้นจะเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างยั่งยืน
สุทิวัส: แล้วใครจะดูแลการเปลี่ยนโครงสร้างนี้ ภาครัฐ เอกชน หรือฝากนโยบายการเงินจะไปช่วยเหลือได้
ดร.วิรไท: อันนี้เป็นคำถามที่ดี เพราะเวลาเกิดอะไรแบบนี้จะมีคำถามว่าเป็นหน้าที่ของใคร แต่โจทย์คราวนี้เวลาพูดถึงเรื่องเปลี่ยนโครงสร้างมันเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนช่วยกัน อย่างเรื่องการจ้างงานในต่างจังหวัด ภูมิสังคมแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน คนแตกต่างกัน ความต้องการต่างกัน โอกาสทางเศรษฐกิจก็ต่างกัน ฉะนั้นต้องการอันแรกจากล่างขึ้นบนในระดับท้องถิ่นต้องการภาคชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เรามีมากมายทั้งอุดมศึกษาหรืออาชีวะศึกษา วิทยาลัยชุมชนต่างๆ เรามีสหกรณ์ท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนที่สำคัญมาก เรามีกองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินที่สำคัญ มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีกหลายแห่ง
วันนี้ตัวอย่างเช่นมีอินเทอร์เน็ตไปทั่วประเทศ รัฐบาลลงทุนเยอะมาก แต่จะทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ อันนี้ต้องการคนหลายมิติมาช่วยกัน ฉะนั้นความคิดระดับเปลี่ยนโครงสร้างเราต้องให้ความสำคัญด้านอุปทาน เป็นนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามา แน่นอนว่าภาครัฐในภาพใหญ่ต้องวางกรอบทิศทางให้ชัดเจน และวางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาบริหารจัดการให้เกิดผลที่ต้องการ แต่เราต้องไม่มองข้ามศักยภาพของกลไกในระดับท้องถิ่น หลายจังหวัดมีความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับประชาสังคม ท้องที่ ภาครัฐในแต่ละจังหวัด สถาบันการศึกษาด้วย ฉะนั้นถ้าเราตระหนักว่าอันนี้เป็นเรื่องของเราทุกคน จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงยั่งยืนได้
ที่มา ไทยพับลิก้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad