ส่งออกก.ค.พ้นจุดต่ำสุด ทำได้มูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงแค่ 11.37% - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

ส่งออกก.ค.พ้นจุดต่ำสุด ทำได้มูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงแค่ 11.37%

img

“พาณิชย์”เผยส่งออกเดือนก.ค.63 พ้นจุดต่ำสุดแล้ว มีมูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.37% โดยมูลค่าขยับเพิ่มขึ้นและการขยายตัวติดลบน้อยลง เหตุได้รับปัจจัยบวกจากการขนส่งที่ฟื้นตัวขึ้น การจัดซื้อฟื้นตัว ยอดขายรถยนต์ดีขึ้น และมีผลดีจากการคลายล็อกดาวน์ ระบุอาหาร สินค้าทำงานที่บ้าน สินค้าป้องกันการติดเชื้อยังเติบโตได้ดี รวมถึงสินค้าเก็งกำไรอย่างทองคำ คาดส่งออกเป็นขาขึ้น ทั้งปีไม่น่าติดลบ 2 หลัก แค่ลบ 8% หรือลบ 9%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนก.ค.2563 มีมูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.37% ซึ่งมูลค่าขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากช่วงเดือนพ.ค.และมิ.ย.2563 ที่มูลค่าอยู่ในระดับ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และการขยายตัวก็ลดลงในอัตราที่น้อยลง เป็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากพ้นจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ที่ส่งออกติดลบสูงถึง 23.17% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,476.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 26.38% เกินดุลการค้า 3,343.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวมการส่งออก 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 133,162.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.72% การนำเข้า มีมูลค่า 119,118.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.69% เกินดุลการค้า 14,044.20 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้มองว่าการส่งออกกำลังฟื้นตัวขึ้น มาจากการขนส่งที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งเที่ยวบินพาณิชย์ การใช้ท่าเรือขนส่งสินค้า ที่ผ่านจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค.2563 , ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของโลก ทั้งยุโรป เอเชีย เช่น จีนและไทย ฟื้นตัวใกล้เคียงก่อนโควิด-19 ระบาด , ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของโลก (Global New Export Orders) เดือนก.ค.2563 อยู่ที่ 46.9 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเดือนพ.ค.2563 , สัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปตะวันตก และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง แต่น้ำตาลทราย ยางพารา และข้าว ยังลดลงค่อนข้างมาก สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง และสินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังฟื้นตัวได้ดี รถยนต์ เริ่มดีขึ้น แม้จะยังไม่ฟื้นตัวเป็นบวก แต่กำลังดีขึ้น ส่วนสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ยังติดลบค่อนข้างเยอะ เพราะราคาน้ำมันยังไม่เปลี่ยนแปลง

ทางด้านตลาดส่งออก แม้ภาพรวมจะยังคงลดลง แต่หลายตลาดเริ่มหดตัวน้อยลง สะท้อนถึงการฟื้นตัว โดยตลาดหลัก สหรัฐฯ เพิ่ม 17.8% เติบโตได้ดีตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ญี่ปุ่นลด 17.5% สหภาพยุโรป ลด 16% ตลาดศักยภาพสูง ปรับตัวลดลงน้อยกว่าเดือนที่แล้ว โดยอาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลด 24.6% CLMV ลด 13.2% อินเดีย ลด 39% ฮ่องกง ลด 8.6% เกาหลีใต้ ลด 12.8% ไต้หวัน ลด 18.1% แต่จีน กลับมาลด 2.7% จากเดือนที่แล้วขยายตัว ส่วนตลาดศักยภาพระดับรอง มีทั้งลดน้อยลงและลดเพิ่มขึ้น โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 13.5% ตะวันออกกลาง ลด 16.4% แอฟริกา ลด 24.6% ลาตินอเมริกา ลด 34.9% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 25.2% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 41.1% แคนาดา ลด 12.6% สวิสเซอร์แลนด์ เพิ่ม 28%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต้องถือว่าการส่งออกเป็นเครื่องหมายถูกแล้ว มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี ไม่น่าจะลบเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่น่าจะลบในช่วงลบ 8% หรือลบ 9% โดยหากการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 18,681 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ทั้งปีติดลบ 8% ถ้าทำได้เดือนละ 18,188 ล้านเหรียญสหรัฐ จะติดลบ 9% โดยมีปัจจัยที่ต้องระวังและติดตามใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการแพร่ระบาดรอบ 2 ความขัดแย้งจากสงครามการค้า ความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับสินค้าที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อไป เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการพักอาศัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad