“พาณิชย์”เตือนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยปรับตัว หลังจีนแก้ระเบียบใหม่สุดเข้ม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

“พาณิชย์”เตือนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยปรับตัว หลังจีนแก้ระเบียบใหม่สุดเข้ม

img

กรมการค้าต่างประเทศเผยจีนแก้ไขระเบียบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคภายในประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เข้ม ทั้งกำหนดคำนิยามเครื่องสำอาง ปรับแก้ระเบียบยาสีฟัน และกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียน หากมีการใช้วัตถุดิบชนิดใหม่ ห้ามอวดสรรพคุณแบบไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ แนะผู้ประกอบการศึกษา ป้องกันผลกระทบทางการค้า เผยจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.64

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมของจีนได้ปรับแก้ไขระเบียบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เพื่อควบคุมดูแลและบริหารจัดการคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องสำอาง รวมทั้งปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป และจะอนุญาตให้ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น ปลูกผม กำจัดขน เสริมหน้าอก เสริมความงาม และดับกลิ่นกาย เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค.2564 เท่านั้นที่สามารถจำหน่ายต่อไปได้เป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีผลบังคับใช้ 

โดยระเบียบดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1.กำหนดคำนิยามใหม่ โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบพิเศษ หมายถึง เครื่องสำอางที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ได้แก่ ยาย้อมผม ป้องกันผมร่วง ยาดัดผมแบบถาวร ทำให้ผิวขาว กันแดด และวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่ถูกกำหนด โดย National Medical Products Administration (NMPA) และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั่วไป หมายถึง เครื่องสำอาง ยกเว้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น สบู่ที่ทำให้ผิวขาว ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องสำอางแบบพิเศษและจะต้องขึ้นทะเบียน

2.ปรับแก้ไขระเบียบ สำหรับยาสีฟันซึ่งไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยจะต้องแจ้งต่อ NMPA ก่อนการวางจำหน่าย และ NMPA จะต้องประเมินประสิทธิภาพของยาสีฟัน ก่อนการใช้คำกล่าวอ้าง เช่น ป้องกันฟันผุ ลดการเกิดคราบฟัน ลดการเสียวฟัน และลดปัญหาเหงือก เป็นต้น

3.กำหนดข้อกำหนดใหม่ โดยเครื่องสำอางที่มีวัตถุดิบชนิดใหม่จะต้องขึ้นทะเบียนต่อ NMPA ก่อนการนำมาใช้เพื่อเป็นวัตถุกันเสีย กันแดด สารแต่งสี ยาย้อมผม หรือทำให้ผิวขาว , บุคคลที่รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพและการประเมินความปลอดภัยของเครื่องสำอาง จะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี และคำกล่าวอ้างในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะ ข้อมูลการวิจัยหรือประสิทธิภาพในการทดสอบลงในเว็บไซต์เพื่อพิสูจน์ต่อคำกล่าวอ้าง รวมทั้งผู้อนุมัติและผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ง่าย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการส่งออก ไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวไปยังจีน ช่วงปี 2560-62 มูลค่า 3,429.7 , 9,188.5 และ 11,985.9 ล้านบาทตามลำดับ โดยล่าสุดในช่วง 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 2,666.6 ล้านบาท ลดลง 63.16%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad