แพทย์ไทยใช้เทคโนโลยีพัฒนาการเรียนการสอนการผ่าตัดข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

แพทย์ไทยใช้เทคโนโลยีพัฒนาการเรียนการสอนการผ่าตัดข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

แพทย์ไทยใช้เทคโนโลยีพัฒนาการเรียนการสอนการผ่าตัดข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

 ภาวะข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากผิวข้อสะโพกสึกหรอตามวัย กระดูกบริเวณข้อสะโพก และรอบข้างบางลง หรือเกิดจากการทรุดตัวของหัวสะโพก ทำให้เกิดอาการปวด เคลื่อนไหวได้น้อยลงคนไข้อาจมีอาการ เจ็บข้อสะโพก ปวดบริเวณขาหนีบ หากหัวสะโพกยุบตัว อาจทำให้ขายาวไม่เท่ากัน เดินลำบาก จากสถิติในปี 2559 ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสป่วยเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมถึง 37.4% และจะมีโอกาสพบมากขึ้นเนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

ขณะเดียวกันเราจะพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยเพิ่มขึ้นอีกด้วย วัยกลางคนมีภาวะของกระดูกสะโพกตายมากขึ้น มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานาน, การสูบบุหรี่ และการได้รับยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง โรค SLE ข้ออักเสบรูมาตอยด์ รักษาด้วยการทานยาลดการอักเสบ แก้ปวด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ลดน้ำหนัก ทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและลดข้อติดแข็ง แต่ถ้าหากทำการรักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีการผิดรูปของข้อสะโพก แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมศัลยแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดเปิดแผลเข้าทางด้านหลัง (Posterior approach) หรือเข้าทางด้านข้าง (Lateral approach) ที่ต้องทำการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพกออก ทำให้ฟื้นตัวช้าหลังผ่าตัด และเพิ่มความเสี่ยงต่อข้อสะโพกเทียมหลุดหลังผ่าตัดเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกตัดออกไป ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่การผ่าตัดสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach หรือ DAA) แพทย์จะผ่าตัดเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพก (direct anterior approach) เข้าระหว่างกล้ามเนื้อ Tensor fascia lata และ Sartorius โดยผู้ป่วยจะนอนหงายขณะผ่าตัด ช่วยให้ใส่ข้อสะโพกเทียมได้ตรงจุดและประเมินความยาวของขาได้แม่นยำขึ้น แผลผ่าตัดจะอยู่ด้านหน้า (Anterior) ขนาดแผลผ่าตัดเล็กลงจากเดิม และสูญเสียเลือดน้อยกว่า คนไข้ฟื้นตัวเร็วกว่าปกติ ลดอาการเจ็บหลังผ่าตัด สามารถเดินได้โดยไม่มีการกระเผลกเอียงของลำตัว (Limping) คนไข้สามารถเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และกลับบ้านได้ภายใน 1-3 วัน ใช้เวลาพักพื้น 5-7วัน และใช้เวลา 4 สัปดาห์ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปรกติ 

ผศ.ดร.นพ. สักกาเดช ลิ้มมหาคุณ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ กระดูกและข้อ กล่าวว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ส่วนในเมืองไทยเพิ่งได้รับความนิยมได้เพียง 5 ปี จึงไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร ทำให้ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผ่าตัดวิธีนี้ในโรงเรียนแพทย์ ปัจจุบันมีแพทย์ที่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีจำนวนน้อย ในขณะที่มีจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดข้อสะโพกเทียมปีละ 25,000 ราย แม้ว่าจะมีความพยายามในการพัฒนาการเรียนการสอนแต่ยังมีข้อจำกัดสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ๆในการจะมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ในเคสผ่าตัดจริง เนื่องด้วยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก ทำให้ในแต่ละครั้งมีแค่หมอผ่าตัดและผู้ช่วยเบอร์ 1 เท่านั้นที่จะสามารถเห็นการผ่าตัดได้ และกว่าที่แพทย์จะมั่นใจในเทคนิคการผ่าตัดดังกล่าวต้องผ่านเคสมากกว่า 100 ราย ถือเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและใช้เวลานานเกินไป”

ผศ.ดร.นพ. สักกาเดช หรือหมอปั๋ง จบปริญญาเอกด้านข้อสะโพกเทียมที่ประเทศออสเตรเลีย และศึกษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมที่ Massachusetts General Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการเรียนการผ่าตัดข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อในรูปแบบออนไลน์ และการใช้เทคโนโลยีเวอร์ชวล เรียลลิตี้ หรือ VR จัดเวิร์กช้อปกับแพทย์ฝึกอบรมมามากกว่า 2 ปี กล่าวถึงแรงบันดาลใจในครั้งนี้ว่า “ขณะเรียนอยู่ผมประทับใจในผลการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทางด้านหน้าโดยไม่ตัดกล้ามเนื้อมาก มันไม่ปวดเหมือนการผ่าตัดวิธีเดิมๆ และสามารถช่วยให้คนไข้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว” เมื่อกลับมาที่เมืองไทยจึงพยายามผลักดันวิทยาการนี้ ได้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาการสอนเพื่อเผยแพร่วิทยากรให้ได้รวดเร็วและมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผู้เรียนสามารถเข้าร่วมเรียนได้โดยไม่ว่าจะมาจากสถาบันไหน หมดปัญหาการเข้าถึง ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเราก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปรกติ

การสอนผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อในรูปแบบออนไลน์ จะช่วยยกระดับ การเพิ่มประสบการณ์ในการเรียนรู้ ให้กับแพทย์ผ่าตัด ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎี และเทคนิคการผ่าตัดแบบแอนิเมชั่น และทำเวิร์กช้อป หลังเรียนจบจะมีการทดสอบประเมินผล และมอบประกาศนียบัตรเพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต”

หมอปั๋งกล่าวเสริมว่า “ความท้าทายของการผ่าข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อเป็นเหมือนเรื่องไก่กับไข่ ประชาชนยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกการรักษา ส่งผลให้ความนิยมการเลือกเรียนของแพทย์ไม่เพิ่มขึ้นตาม ขณะที่เทคโนโลยีการรักษาไปไกลและพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

ปัจจุบันหมอปั๋ง ยังคงเดินหน้าผลักดันการเรียนการสอนออนไลน์และเวิร์กช้อปให้กับนักเรียนแพทย์เพื่อช่วยให้คนไข้มีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสม และหวังว่าจะมีศัลยแพทย์เฉพาะทางเก่งๆ มากขึ้นเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลางเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกของเอเชีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad