แผนงานอาเซียนปี 2564 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

แผนงานอาเซียนปี 2564

img

แผนงานอาเซียนปี 2564

ปีนี้บรูไน ดารุสซาลาม รับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียน และได้เริ่มจัดให้มีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของอาเซียนในปี 2564 แล้ว
         
ประเด็นที่บรูไน เจ้าภาพ ให้ความสำคัญ ก็คือ การฟื้นฟู การเป็นดิจิทัล และการสร้างความยั่งยืนให้กับอาเซียน มีประเด็นที่จะผลักดันรวมทั้งสิ้น 10 ประเด็น
         
ทั้งนี้ อาเซียนได้ประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว 2 ครั้ง เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล โดยครั้งแรกเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2564 ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23-27 ม.ค.2564
         
ผลสรุป ก็คือ อาเซียนได้เห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจตามที่บรูไนเสนอ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะค่อยๆ ตกผลึก และนำเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และผู้นำอาเซียนเห็นชอบต่อไป
         
โดยในด้านการฟื้นฟู มีประเด็นสำคัญที่จะผลักดัน เช่น การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งจะเป็น FTA น้องใหม่ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

ด้านดิจิทัล เช่น การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564–68


ด้านความยั่งยืน เช่น การจัดทำกรอบการส่งเสริม MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม รายย่อย) ของอาเซียน เรื่องอาหาร การเกษตร และป่าไม้ และจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความยั่งยืนของภูมิภาคภายหลังการระบาดของโควิด-19

ในการประชุมครั้งล่าสุด อาเซียนยังได้ติดตามการทำงานขององค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้เสาเศรษฐกิจ การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างอาเซียน รวมถึงติดตามเร่งรัดประเทศอาเซียนที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันความตกลง E-commerce ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงอินโดนีเซีย เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

นอกจากนี้ ได้มีการขยายบัญชีสินค้าจำเป็นที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกในช่วงโควิด-19 เพิ่มเติมจากยา และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าจำเป็นในอาเซียน

ขณะเดียวกัน ได้หารือถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ที่หากสำเร็จ จะกลายเป็นสมาชิกใหม่ลำดับที่ 11 ของอาเซียน

ไม่เพียงแค่นั้น อาเซียนยังได้กำหนดแผนการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ แคนาดา สหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป รัสเซีย และฮ่องกง

สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole -CoW) ที่มีเจ้าหน้าที่อาวุโสของ 3 เสาอาเซียน (การเมืองความมั่นคง , เศรษฐกิจ , สังคมและวัฒนธรรม) และภาคเอกชนอาเซียน ได้ร่วมกันผลักดันประเด็นที่จะเป็นอนาคตของอาเซียน
         
ตัวอย่างเช่น ความจำเป็นที่จะต้องมีแผนยุทธศาสตร์สำหรับรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) อย่างจริงจังและครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว การทบทวนแผนงานระยะกลางของอาเซียน เพื่อประเมินผลการทำงานและกำหนดทิศทางในอนาคต และการลดผลกระทบการจ้างงานยุคดิจิทัล ซึ่งกำหนดไว้ว่าภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันต่อไป
         
ทั้งหมดนี้ คือ ประเด็นหลักๆ ที่อาเซียนจะร่วมกันผลักดันในปีนี้
         
เป็นประเด็นที่จะช่วยฟื้นฟูอาเซียนจากวิกฤตโควิด-19 พลิกโฉมหน้าอาเซียนเข้าสู่ยุคดิจิทัล และสร้างความยั่งยืนให้กับอาเซียน
         
และเป็นประเด็นที่เราๆ ท่านๆ ต้องติดตาม  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad