สอวช. ไขคำตอบ BCG Economy Model สำคัญอย่างไร ทำไมถึงประกาศเป็นวาระแห่งชาติ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สอวช. ไขคำตอบ BCG Economy Model สำคัญอย่างไร ทำไมถึงประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

สอวช. ไขคำตอบ BCG Economy Model สำคัญอย่างไร ทำไมถึงประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงความสำคัญของ BCG Economy Model ที่นำไปสู่การประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบเดิม มีข้อสังเกตด้านปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศไทยเน้นการพัฒนาโดยใช้ข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร และแรงงานราคาถูก เพื่อผลิตสินค้าที่มีราคาไม่แพง แต่การพัฒนาในภาพรวมยังต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งการกระจายรายได้ กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะ มีศักยภาพในการผลิตสูง เห็นได้จากกลุ่มผู้ส่งออก ที่ยังเป็นบริษัทรายใหญ่ หรือบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประเทศไทยต้องพิจารณาในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่ต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น

ปัญหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หากต้องการขยับขึ้นข้ามเส้นแบ่งของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขึ้นสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องมีรายได้อยู่ที่ 12,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงต้องอาศัยการนำกลไกขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ รวมไปถึง BCG Economy Model ที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการสร้างรายได้ให้ประเทศ และกระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มคนจำนวนมาก

BCG Economy Model แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

– B ย่อมาจาก Bio Economy เป็นการสร้างการเติบโตโดยอาศัยฐานทรัพยากรของชาติด้านชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ครอบคลุมไปถึงการใช้วัฒนธรรมเป็นฐาน หรือวัฒนธรรมสร้างชีวิต

– C ย่อมาจาก Circular Economy เป็นความพยายามในการยืดอายุการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้ยาวนานที่สุด ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี เช่น การรีไซเคิล, หรือการ sharing ใช้ยานพาหนะ ใช้รถยนต์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

– G ย่อมากจาก Green Economy เป็นการพัฒนาที่ดูความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การผลิต หรือการบริการ ที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาจะมองเป็น 2 ส่วน คือยอดและฐานของพีระมิด ส่วนที่เป็นยอดพีระมิดเป็นกลุ่มคนที่จะใช้ความรู้ เทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาด้านการผลิตอย่างเข้มข้น ซึ่งมีคนทำได้ในจำนวนน้อย เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอาหารเชิงฟังก์ชั่น หรือ functional food เป็นอาหารที่กินเพื่อให้สุขภาพดี โดยผลิตให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง, นักกีฬา ต้องการโปรตีน ทำให้สินค้าเหล่านี้สามารถนำไปขายได้ในราคาสูงขึ้น

ส่วนฐานของพีระมิด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จะใช้เทคโนโลยี หรือความรู้ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เป็นฐานสนับสนุนการผลิต เช่น การปลูกมะม่วง มีการนำเอาความรู้เข้าเรื่องธาตุอาหารในดิน การดูแลเรื่องความชื้น หรือการทำแพคเกจห่อหุ้มผลมะม่วงเพื่อรักษาผิวระหว่างออกผลเข้าไปช่วย ซึ่งมีราคาไม่สูง เกษตรกรสามารถจับต้องได้ จะช่วยทำให้สามารถขายสินค้าส่งออกได้ในราคาสูงและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

หากสามารถดำเนินการตามแนวทางของ BCG Economy Model ได้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหารของประเทศ

ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ จะเกิดความมั่นคงทางด้านอาหารได้ในที่สุด

ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติเยอะมาก โดยการผลิตไฟฟ้ามีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึง 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิมร้อยละ 16.5 ในปี 2562 เพิ่มเป็นร้อยละ 20

ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง

ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์

ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

เมื่อมองในภาพใหญ่ของประเทศ BCG เป็นส่วนแบ่งของ GDP ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท หากดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถเพิ่มจำนวนส่วนแบ่ง GDP เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนล้านบาท และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากเดิม 16.5 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน เมื่อเกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก จะเกิดการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชน และกลุ่มคนฐานะปานกลาง ไปจนถึงฐานะยากจนได้มากขึ้น นำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad