DITP หนุนผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารไทย เผยความคืบหน้า COVID - 19 Prevention Best Practice สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้าทั่วโลก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จัดโครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ “สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Deliver with Safety) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีระบบการควบคุมป้องกันที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ปลอดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส โดยภาครัฐได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารในประเทศไทย ซึ่งในปี 2563 ได้มีการลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง “การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice)” ของ 4 หน่วยงานภาครัฐบาล เพื่อมอบหนังสือรับรองให้ผู้ประกอบการที่มีกระบวนการการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าอาหารมากขึ้น โดยคำนึงถึงที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต DITP จึงจัดโครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Thailand Deliver with Safety เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าผู้นำเข้าและผู้ซื้อทั่วโลกว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง และอาหารฮาลาล โดยผู้ประกอบการไทยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลกในการบริหารจัดการในทุกกระบวนการผลิต การบรรจุ และการขนส่ง ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลกว่าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจ MOU โดย 4 หน่วยงานภาครัฐบาล ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมมือกันรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ซึ่งกรมประมงจะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้หนังสือรับรอง COVID – 19 Prevention Best Practice นี้จะเป็นภาคสมัครใจ โดยในปัจจุบันกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองฯ ให้ โรงงานอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และโรงงานผลิตอาหารทะเลกระป๋อง จำนวน 72 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานที่อยู่ในจังหวัดอยุธยา 1 โรงงาน ปทุมธานี 1 โรงงาน ชลบุรี 1 โรงงาน สมุทรสาคร 32 โรงงาน สงขลา 8 โรงงาน ตรัง 1 โรงงาน เพชรบุรี 1 โรงงาน สุราษฎร์ธานี 4 โรงงาน ระนอง 3 โรงงาน ชุมพร 2 โรงงาน กรุงเทพฯ 1 โรงงาน พังงา 1โรงงาน ฉะเชิงเทรา 1 โรงงาน สมุทรปราการ 5 โรงงาน ระยอง 5 โรงงาน นครปฐม 2 โรงงาน สตูล 1 โรงงาน กาญจนบุรี 1 โรงงาน และภูเก็ต 1 โรงงาน ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่ค้า เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ”
ในปี 2563 ที่ผ่านมา ถึงแม้เศรษฐกิจโลกมีความชะลอตัว แต่การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยกลับมีการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีมูลค่าสูงถึง 13,640.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+1.40%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ซึ่งสินค้าอาหารส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ 1. ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 2. อาหารทะเลสด แช่เย็น กระป๋อง และแปรรูป (ไม่รวมกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) 3. ข้าว 4. ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป 5. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยในปี 2564 นี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการมาของใบรับรองเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการและความเชื่อมั่นของตลาดโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น