“พาณิชย์”ลงนาม MOU จีน ร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมดันจด GI ไทย 3 รายการ
กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงนาม MOU กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ตั้งผู้ประสานงาน 2 ประเทศ ร่วมมือแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาระบบการคุ้มครอง พัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม พร้อมเร่งผลักดันการจดทะเบียน GI ไทยในจีน 3 รายการ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์” เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและนำรายได้กลับสู่ชุมชน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า วันที่ 1 มี.ค.2564 กรมฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ผ่านระบบ VDO Conference กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNIPA) โดยมีการตั้งผู้ประสานงาน 2 ประเทศ เพื่อร่วมแก้ปัญหาหากเกิดกรณีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการไทยที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนได้เร็วขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่มอบหมายให้กรมฯ ดำเนินการเชิงรุกในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งการพัฒนาบุคลากรและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบและจดทะเบียน การคุ้มครองภูมิปัญญาดั้งเดิม ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนมีความเชี่ยวชาญ และเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ
“หลังจากนี้ไป กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันกิจกรรมความร่วมมือระหว่างไทยและจีนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการผลักดันจีนเร่งรัดจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย 3 รายการ ที่ยื่นไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทยในจีน และนำรายได้กลับมาสู่ชุมชนท้องถิ่นและผู้ประกอบการ GI ของไทยต่อไป”นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับการเร่งรัดการขึ้นทะเบียน GI เพราะสินค้าเหล่านี้ เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจีนที่เดินทางเข้ามาในไทย และได้ทดลองบริโภคสินค้า ทำให้มีความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องขึ้นทะเบียน GI เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบ จากการที่จะเข้าไปทำตลาดในอนาคต รวมถึงป้องกันการละเมิดที่อาจจะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน มีสินค้า GI ไทยที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 7 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป (อียู) ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดียและอินโดนีเซีย เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ที่เวียดนาม กาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา และมีสินค้าที่รอการขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น ที่ญี่ปุ่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ที่จีน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ที่เวียดนาม ส่วนสินค้าที่กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และทุเรียนปราจีนบุรี ที่จีน ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่มาเลเซีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น