ราคาพลังงานพุ่ง ดันเงินเฟ้อใกล้พลิกเป็นบวก มี.ค.64 ลดเหลือ 0.08% ต่ำสุด 13 เดือน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

ราคาพลังงานพุ่ง ดันเงินเฟ้อใกล้พลิกเป็นบวก มี.ค.64 ลดเหลือ 0.08% ต่ำสุด 13 เดือน

img

ราคาพลังงานพุ่ง ดันเงินเฟ้อใกล้พลิกเป็นบวก มี.ค.64 ลดเหลือ 0.08% ต่ำสุด 13 เดือน

เงินเฟ้อเดือนมี.ค.64 ลดลง 0.08% หดตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เหตุราคาพลังงานเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้น กลับมาเป็นบวกในรอบ 14 เดือน แต่เงินเฟ้อยังไม่พลิกกลับเป็นบวก เพราะยังได้อานิสงค์จากมาตรการลดค่าครองชีพรัฐ ทั้งลดค่าไฟฟ้า ประปา และข้าวสาร ไก่ ไข่ ผัก ราคาลดลง คาดเม.ย.พุ่งแน่ หลังหมดมาตรการรัฐ และจะขึ้นต่อเนื่องทั้งปี มีน้ำมันเป็นปัจจัยหลัก ส่วนทั้งเป้าคาดโต 1.2% ภายใต้กรอบ 0.7-1.7%
         
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทยเดือนมี.ค.2564 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 99.11 ลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2563 ถือว่าหดตัวน้อยสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.2563 แต่เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2564 ส่วนเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง 0.53% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.42 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2564 และเฉลี่ย 3 เดือนเพิ่มขึ้น 0.12% 
         
โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.2564 ยังคงติดลบ เพราะยังได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาที่ยังคงมีอยู่และสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2564 ราคากลุ่มอาหารสด ยังคงลดลง เช่น ข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ แต่เงินเฟ้อก็เริ่มได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน เพิ่มขึ้น 1.35% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเพิ่ม 17.18% ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศ ปรับขึ้น 5 ครั้ง และปรับลง 5 ครั้ง แต่ราคาปรับขึ้นมากกว่าราคาที่ลดลง รวมทั้งยังมีการเพิ่มขึ้นของน้ำมันพืช และเนื้อสุกร
        
ทั้งนี้ เงินเฟ้อตั้งแต่มี.ค.2563 ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง โดยมี.ค.2563 ลด 0.54% เม.ย.2563 ลด 2.99% พ.ค.2563 ลด 3.44% มิ.ย.2563 ลด 1.57% ก.ค.2563 ลด 0.98% ส.ค.2563 ลด 0.50% ก.ย.2563 ลด 0.70% ต.ค.2563 ลด 0.50% พ.ย.2563 ลด 0.41% ธ.ค.2563 ลด 0.27% และมา ม.ค.2564 ซึ่งใช้ฐานเงินเฟ้อใหม่ ลด 0.34% และ ก.พ.2564 ลด 1.17%

นายวิชานัน กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนเม.ย.2564 คาดว่าจะบวกแรง เพราะมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาหมดไปแล้ว และจะบวกต่อเนื่องไปทั้งปี โดยไตรมาส 2 จะบวกค่อนข้างเยอะ เพราะฐานปีที่แล้วต่ำ โดยมีน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นตัวสำคัญ ที่จะทำให้เงินเฟ้อขึ้นมากหรือน้อย ส่วนอาหารสด เป็นไปตามฤดูกาล และความต้องการบริโภค ซึ่งก็ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของรัฐบาลที่จะมีต่อเนื่อง และยังมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นได้
         
ส่วนเงินเฟ้อปี 2564 คาดว่าจะยังอยู่ในกรอบที่ สนค. คาดการณ์ไว้ที่ขยายตัว 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% แม้จะมีการปรับสมมติฐานต่างๆ เพิ่มขึ้นก็ตาม โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5-3.5% จากเดิมในเดือนธ.ค.2563 คาดโต 3.5-4.5% ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมคาด 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาททั้งปีอยู่ที่ 29.0-31.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมคาด 30.0-32.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad