เปิดหัวใจคนรุ่นใหม่ “ธีรภัทร์ โนรินทร์” เดือนสวนสุนันทา สานต่ออาชีพเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

เปิดหัวใจคนรุ่นใหม่ “ธีรภัทร์ โนรินทร์” เดือนสวนสุนันทา สานต่ออาชีพเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ

 


เปิดหัวใจคนรุ่นใหม่ “ธีรภัทร์ โนรินทร์” เดือนสวนสุนันทา สานต่ออาชีพเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ 

 

ธีรภัทร์ โนรินทร์ หรือ ท๊อป เด็กหนุ่มหน้าตาดี ดีกรีเดือนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปี 2563 นักศึกษาชั้นปีที่  วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ที่กำลังสาละวนกับการดูแลลูกหมูในคอก สำหรับบางคนแล้วอาจมีคำถามว่า ทำไมเขาถึงทำได้อย่างคล่องแคล่ว ท๊อปวางมือจากงานตรงหน้าแล้วเริ่มเล่าที่มาว่าเขาช่วยเลี้ยงหมูซึ่งเป็นกิจการของพ่อแม่มาตั้งแต่เด็กๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กหนุ่มคนนี้ถึงได้เลี้ยงหมูได้อย่างไม่มีท่าทีขัดเขิน  

 

ที่สำคัญช่วงนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันการศึกษาที่เขาร่ำเรียนอยู่ เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่พอดี จึงเป็นโอกาสให้เขาได้กลับบ้านเกิด ที่บ้านกุดคอก่าน ตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เพื่อกลับมาช่วยงานพ่อแม่ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่เขารอคอยเพราะจะได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และได้ทำงานที่เขารักและชอบทำมาตั้งแต่เด็กๆ และยิ่งชอบมากที่สุดในการดูแลลูกหมูหย่านมที่รับมาเลี้ยงใหม่ๆ ยิ่งช่วงที่ต้องให้นมลูกหมูเสริมในช่วงแรก เขายิ่งชอบมากๆเพราะลูกหมูน่ารักเป็นพิเศษ  


 

ก่อนที่จะไปตามติดกิจวัตรประจำวันในฟาร์มของท๊อป ต้องมาทำความรู้จักกับ “ฟาร์มแสงเทียน โนรินทร์” ซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนยโสธร กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดย พิรุณ - แสงเทียน โนรินทร์ พ่อและแม่ของท๊อป ช่วยกันย้อนความหลังว่า ตั้งแต่ปี 2535 ครอบครัวโนรินทร์ก็เริ่มเลี้ยงหมูแบบหลังบ้าน 10-20 ตัว ควบคู่กับการปลูกข้าว ปลูกอ้อย เพื่อเป็นอาชีพเสริมกัน กระทั่งปี 2559 ทางซีพีเอฟ ได้ขยายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหมูขุนในเขตจังหวัดมุกดาหารและยโสธร จึงชักชวนพิรุณและแสงเทียนที่มีพื้นฐานการเลี้ยงหมูอยู่แล้ว มาร่วมโครงการ  

 

ขณะนั้นทั้งสองคนก็มีความคิดที่จะขยายการเลี้ยงหมู ให้เป็นกิจการเพื่อเป็นมรดกให้กับลูกสาวและลูกชาย จึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมเลี้ยงหมูกับโครงการส่งเสริมฯมุกดาหาร โดยเริ่มจากเลี้ยงหมูขุน 1โรงเรือนความจุ 600 ตัว เมื่อผลการเลี้ยงเป็นที่น่าพอใจจึงขยายการเลี้ยงอีก 1 โรงเรือน รวมความจุทั้ง 2 โรงเรือนที่ 1,200 ตัว พร้อมระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยปัจจุบันฟาร์มแสงเทียน โนรินทร์ ได้ย้ายมาอยู่กับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน (ฝากเลี้ยง) ซีพีเอฟยโสธร เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างคล่องตัว และผลก็เป็นอย่างที่ทั้งสองตั้งใจไว้ จากความใส่ใจในการเลี้ยงของทั้งสองคนที่ตัดสินใจดูแลหมูทั้งหมดเองโดยไม่ได้จ้างคนงาน และได้ดำเนินการทั้งระบบการเลี้ยง การป้องกันโรคตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตอยู่ในระดับดีมาก หมูโตเร็ว สุขภาพดี น้ำหนักจับออกสูง เปอร์เซ็นต์เสียหายต่ำ โดยฟาร์มนี้ยังวางแผนที่จะติดตั้งระบบวงจรปิดที่จะเข้ามาดูแลทั้งตัวสั ตว์ ระบบควบคุมอุณหภูมิ-ความชื้นภายในโรงเรือน และการป้องกันโรค รวมถึงเปลี่ยนระบบให้อาหารเป็น Auto Feed ในเร็วๆนี้ 

 

“เราอยากให้อาชีพเลี้ยงหมู กลายเป็นอาชีพที่สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูกๆทั้งสองคน เราปูพื้นฐานให้กับพวกเขาตั้งแต่เด็กๆ ชวนเขาให้มีส่วนร่วมในการดูแลหมูมาตั้งแต่สมัยเลี้ยงหมูหลังบ้าน ทำให้เขารักและผูกพันกับอาชีพนี้ ทุกๆปิดเทอมลูกๆอยากกลับบ้านมาอยู่ด้วยกัน มาช่วยพ่อแม่ดูแลหมู เพียงเท่านี้เราก็ภูมิใจในตัวเขามากแล้ว และเชื่อว่าลูกๆจะพร้อมรับมรดกนี้ไปต่อยอดอาชีพที่มั่นคงของเขาได้ในอนาคต” พิรุณ บอกอย่างภูมิใจ 

 

กลับมาที่ภารกิจดูแลน้องหมูของท๊อปกันบ้าง เขาบอกว่า ในแต่ละวันกิจกรรมเริ่มกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยจะเตรียมตัวเข้าฟาร์มที่อยู่ห่างไปจากบ้านประมาณ 4 กิโลเมตร และก่อนจะเข้าในพื้นที่ฟาร์มต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคและอาบน้ำสระผม พร้อมเปลี่ยนชุดฟอร์มที่ใส่เข้าภายในฟาร์มไม่ปะปนกัน เรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ทุกฟาร์มของบริษัททำเหมือนกันทั้งหมด ถือเป็นพื้นฐานการป้องกันโรคที่ทุกคนต้องทำอย่างเคร่งครัด  




 

หลังจากเข้าฟาร์มแล้ว ท๊อปจะมุ่งหน้าเข้าไปในเล้าหมู เริ่มจากการทำความสะอาดคอกหมูที่มีทั้งหมด 32 คอก ความจุคอกละ 40 ตัว เขาบอกว่าหมูเป็นสัตว์ที่รักความสะอาด และด้วยระบบที่ดีในคอกที่มีส้วมน้ำทำให้คอกสะอาด มีการแบ่งโซนชัดเจนทั้งโซนที่ให้อาหาร ที่นอน ที่ขับถ่าย ทำให้ตัวหมูสะอาด การดูแลจึงไม่ยุ่งยากแถมยังช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำ และเมื่อหมูอยู่อย่างสบายก็ไม่ป่วย ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ส่งผลให้ได้หมูที่ปลอดสาร ปลอดโรค และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค นอกจากงานดูแลความสะอาดของหมูทั้งหมดแล้ว ยังมีงานให้อาหารที่จะให้อาหารตามสูตรอาหารที่เหมาะสมกับหมูแต่ละช่วงอายุ จนกว่าจะถึง 6 เดือน ได้อายุจับออกซึ่งบริษัทจะรับผิดชอบเป็นตลาดให้เกษตรกรทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้  

 

หลังจากงานเลี้ยงหมูแล้ว ท๊อปจะใช้เวลากับการช่วยงานที่ร้านขายต้นไม้ของคุณย่า และยังรับผิดชอบดูแลสวนและทำความสะอาดรอบบ้านอย่างตั้งใจไม่มีอิดออด เขาบอกว่า ความมุ่งมั่นของตนเองคือ การได้ทำหน้าที่ของลูกที่ช่วยเหลือพ่อแม่และครอบครัว เขาหวังว่าหลังจากจบวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แล้วจะได้กลับมาสานต่อกิจการเลี้ยงหมูและมุ่งมั่นพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นตามรอยของพ่อแม่ที่ได้วางรากฐานไว้อย่างดี 

 

ทั้งหมดนี้คืออีกแง่มุมดีๆ ของคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักในอาชีพเกษตรกร บนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยมุมมองของคนที่มีหัวใจกตัญญู และอยากพัฒนาอาชีพของครอบครัวให้มั่นคงยั่งยืน./ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad