รายงานพิเศษ ชป.ใส่ใจดูแล “คลองสวยน้ำใส ไร้ผักตบชวา” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ ชป.ใส่ใจดูแล “คลองสวยน้ำใส ไร้ผักตบชวา”

 


รายงานพิเศษ  ชป.ใส่ใจดูแล “คลองสวยน้ำใส ไร้ผักตบชวา”    

ผักตบชวา นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำต่างๆทั่วประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเพราะผักตบชวาเป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตได้ทุกสภาพน้ำ ขยายพันธุ์และแพร่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็วจนเต็มแม่น้ำลำคลอง กีดขวางเส้นทางสัญจรทางน้ำ ทำให้ลำคลองเกิดการตื้นเขินแล้ว  ยังทำให้เกิดการระเหยน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติถึง 3 – 5 เท่า

      นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง โดยติดตั้ง Log boom เพื่อป้องกันไม่ให้ผักตบชวาและวัชพืชไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง ลงไปสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ และง่ายต่อการจัดเก็บ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมชลประทานเตรียมจัดสร้างเรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็กเพิ่มเติมอีก 100 ลำ และจัดทำทุ่นยางพาราดักผักตบชวา จำนวน 10,404 ท่อน           

       พร้อมจัดตั้ง 612 หน่วยทำหน้าที่กำจัดผักตบชวาและวัชพืชโดยใช้แรงงานคนและเครื่องจักรกลได้แก่ รถขุดตีนตะขาบ แบบแขนยาว จำนวน 107 คัน เรือขุดแบบปูตัก จำนวน 31 ลำ และเรือกำจัดวัชพืช จำนวน 52 ลำ โดยกำหนดรอบเวรการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง ลดปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในระบบชลประทานให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปี 2564 ตามนโยบายของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์


       นอกจากนี้ สั่งการให้ทุกโครงการชลประทาน ติดตั้งป้ายแสดงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชไว้ที่อาคารชลประทาน และทางน้ำชลประทาน ที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของผักตบชวา เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งให้หน่วยงานชลประทานในพื้นที่เข้าไปจัดเก็บได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสามารถแจ้งข่าวผ่าน Page Facebook “กรมชลประทาน” และสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา 

       ที่ผ่านมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เป็นหนึ่งในต้นแบบของบริหารจัดการผักตบชวาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพื้นที่ทุ่งรังสิต เนื้อที่1.2 ล้านไร่ มีแหล่งน้ำชลประทาน  ซึ่งเป็นคลองขุดแนวเหนือ-ใต้ รวมทั้งสิ้น 68 สายคลอง ในอดีตพื้นที่ทุ่งรังสิตประสบปัญหาการแพร่ระบาดของผักตบชวาอย่างหนาแน่น เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำไม่ดี ต้องใช้งบประมาณปีละ 1-2.5 ล้านบาทในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ กว่า 200,000 ตัน

        กรมชลประทานได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการ “คลองสวย น้ำใส ร่วมใจกำจัดวัชพืชทุ่งหลวงรังสิต” กำหนดกรอบปฏิทินการดูแลวัชพืชชัดเจน นำนวัตกรรมมาดูแลทางน้ำแบบบูรณาการ ลดการทำงานซ้ำซ้อน สามารถแก้ปัญหาวัชพืชในทุ่งรังสิตได้อย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ-บรรเทาภัยจากน้ำ จนได้รับรางวัลดีเด่นด้านบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในปีพ.ศ. 2560

     ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ดำเนินงานกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทางน้ำตลอดทั้งปี โดยนำนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (Drone)มาบินสำรวจสภาพวัชพืชทางน้ำในลำคลอง ติดตั้งกล้อง cctv บริเวณด้านหน้าอาคารบังคับน้ำที่สำคัญ 11 แห่ง ซึ่งเป็นจุดควบคุมผักตบชวา ขณะเดียวกันได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรอาสาสมัครทำหน้าที่รายงานการสะสมผักตบชวาในลำคลอง ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ทุกสัปดาห์ ทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาผักตบชวากีดขวางทางน้ำ ในพื้นที่ทุ่งรังสิตได้อย่างยั่งยืน สามารถประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก

       พลังความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นดังกล่าว ช่วยให้กรมชลประทานสามารถแก้ไขปัญหาผักตบชวาได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถพลิกฟื้นคืนชีวิตให้สายน้ำ ช่วยป้องกันน้ำท่วม แก้ไขน้ำเน่าเสีย รวมทั้งสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad