ไทยผลักดัน “ศาสตร์พระราชา” สู่ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564

ไทยผลักดัน “ศาสตร์พระราชา” สู่ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ


 ไทยผลักดัน ศาสตร์พระราชา สู่ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ

สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่การพัฒนาโลกยั่งยืน

ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 820 ล้านคนกำลังเผชิญหน้ากับความอดอยาก โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ “การขจัดความหิวโหย” (zero hunger)เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เพื่อให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการได้ตลอดทั้งปี เพื่อขจัดความหิวโหยและอดอยากให้ได้ภายในปี พ.. 2573 ซึ่งการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” และการส่งเสริม “การเกษตรอย่างยั่งยืน” นับเป็นรากฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้โลกก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 ด้วยเหตุนี้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงได้จัดการเสวนาในหัวข้อ ความมั่นคงทางอาหารในวิกฤตของโลก (จาก Local สู่ Global)” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนชาวไทยในอนาคต โดยเป็นการเสวนาในรูปแบบออนไลน์และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ของเพจมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (https://www.facebook.com/agrinature.or.th/) ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 14” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

 

การเสวนาครั้งนี้ อาจารย์ยักษ์  ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในหลายพื้นที่ แต่เกษตรกรที่ทำเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา สามารถรับมือกับวิกฤตที่เข้ามาได้อย่างมั่นคง มีผลผลิตเพียงพอบริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันให้คนอื่น ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้มีผู้ที่ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จหันมาลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะตระหนักว่าแนวทางนี้เป็นทางรอดจากทุกวิกฤตได้อย่างแท้จริง

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

คำว่า เล็กเปลี่ยนโลก ในที่นี้หมายถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีขนาดเล็ก แต่กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นบนโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตในรูปแบบใดก็ตาม เกษตรกรชาวไทยที่เจริญรอยตามศาสตร์พระราชาและนำแนวทางโคก หนอง นา โมเดล ไปใช้ในพื้นที่ทำเกษตรของตนเองต่างมีอาหารเพียงพอต่อความต้องการของครอบครัว ทั้งยังสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย นอกจากนั้น เรายังได้เห็นถึงความสามัคคีและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ทั้งยังได้เห็นว่ามีคนหันมาลงมือปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชากันมากขึ้นเพราะได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จและเข้าใจแล้วว่าการปฏิบัติตามแนวทางนี้คือ ทางรอด อย่างแท้จริง”

 

อย่างไรก็ตาม การสานต่อศาสตร์พระราชา รวมถึงการสร้างพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จนั้นยังเป็นภารกิจที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเรามีตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นเท่าใด จะยิ่งมีเกษตรกรหันมาให้ความสนใจและร่วมตามรอยศาสตร์พระราชามากขึ้นไปด้วย ซึ่งส่งผลให้แนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่และส่งต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย เกิดเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นคง

นอกจากการร่วมด้วยช่วยกันภายในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำให้ โคก หนอง นา โมเดล สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและแนวทางดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองได้สำเร็จในหลายพื้นที่แล้ว การสนับสนุนจากภาคเอกชนก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเช่นกัน

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกั

โดยนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนได้ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และหน่วยงานหลายๆ ภาคส่วน ดำเนิน โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) อย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 9 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งเชฟรอนไม่เพียงส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ แต่ยังเข้ามาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีพนักงานของเชฟรอนและครอบครัวกว่า2,500 คนรวมทั้งตัวผมเองได้เข้าร่วมเรียนรู้และลงมือปฏิบัติร่วมกับเกษตรกรและผู้สนใจกว่า 20,000 คน ในกิจกรรมของโครงการตามรอยพ่อฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เข้าใจว่าการทำโคก หนอง นา นั้นช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นได้ในทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแม้แต่โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลก

 

การปฏิบัติตามแนวทางโคก หนอง นา ยังถือเป็นการคืนชีวิตให้แผ่นดินอย่างแท้จริง ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานและไม่ใช้สารเคมี จึงช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ นอกจากนั้น การดำเนินกิจกรรมของโครงการตามรอยพ่อฯ ที่ใช้ การเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของเกษตรกรไทย เพื่อประสานความร่วมมือของเกษตรกรและผู้สนใจในศาสตร์พระราชาจากทั่วประเทศเข้าด้วยกันได้มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งเพื่อส่งต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ตลอดจนแรงบันดาลใจในศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบ”



การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลให้ประชากรโลกต้องเผชิญกับวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติจึงเตรียมที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” โดยจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2564 และระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 


นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตรและผู้แทนถาวรไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหารมาเป็นเวลาหลายปี แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีผู้ประสบภัยที่ 690 ล้านคน ในปัจจุบันตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 820 ล้านคน รวมถึงราคาอาหารโลกก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา8 เดือนติดต่อกัน จึงเป็นเหตุผลให้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุม UN Food Systems Summit เพื่อผลักดันให้ทุกประเทศมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้นำเอาภูมิปัญญาด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารไปเผยแพร่สู่ระดับสากล

จากการที่ผมได้เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า แม้ในอดีตเราอาจเคยลองผิดลองถูกในการทำเกษตรกรรมหรือการผลิตอาหาร เคยมีระบบการผลิตอาหารที่ขาดความหลากหลายและส่งผลต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน แต่ในวันนี้ ประเทศไทยได้แรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเหล่าเกษตรกร ในการสร้างสมดุลให้กับการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ ซึ่งนำมาสู่ความมั่นคงทางอาหารที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกสถานการณ์ ดังนั้น การประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ถ่ายทอดภูมิปัญญานี้สู่ระดับนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความอดอยากที่สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของประชากรโลกมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad